จากที่วันนี้ 15 ตุลาคม 2566 รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา อาจารย์ด้านเวชระเบียน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานยุทธศาสตร์วิจัยสถาบันทิศทางไทย ได้ออกมาเผยแพร่บทความที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้โดยเนื้อหาที่ประธานยุทธศาสตร์วิจัยสถาบันทิศทางไทย ระบุไว้ มีข้อความว่า บทวิเคราะห์ สงครามตะวันออกกลางกับพุทธพยากรณ์ ซึ่งอาจตรงกับปีนี้คือ พ.ศ. ๒๕๖๖ พอดี
ส่วนหนึ่งของพุทธพยากรณ์ที่มีการเผยแพร่กันมาจนเป็นที่ทราบกันพอสมควร โดยมีข้อความของพุทธพยากรณ์ส่วนหนึ่งว่า
“อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ก่อนกึ่งพุทธกาล ๑๕ ปี จะเกิดการณ์ร้ายแรง จะมีการรบราฆ่าฟันซึ่งกันและกัน ฝนเหล็กจะตกจากอากาศ ไฟจะลงมาจากอากาศ จะเผาผลาญประชาชน จะมีการล้มตายซึ่งกันและกันเป็นอันมาก แต่ว่าดูก่อนอานนท์ก่อนกึ่งพุทธกาล ๑๕ ปี จะถือว่าเป็นการณ์ร้ายแรงหาได้ไม่ ทั้งนี้ก็เพราะว่าหลังกึ่งพุทธกาลไปแล้ว
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ จะมีความร้ายแรงมากกว่าก่อนกึ่งพุทธกาลมาก ยักษ์นอกพุทธศาสนา จะรบราฆ่าฟันซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายจะล้มตายกันฝ่ายละมาก ๆ สมณะ ชี พราหมณ์ จะล้มตาย จะตายไปฝ่ายละครึ่งจึงจะเลิกรากัน สำหรับประเทศทีนับถือพุทธศาสนา จะมีภัยเหมือนกัน แต่ไม่ร้ายแรงนัก…”
เมื่อได้พิจารณาเกี่ยวกับกึ่งพุทธกาล คือ พ.ศ.๒๕๐๐ ถ้าพุทธศาสนาจะมีอายุตามพุทธพยากรณ์ ตามที่มีอยู่ในพุทธพยากรณ์ ความว่า
“….ค.ศ. ๒๐๐๐ โลกจะไม่สลาย… พระพุทธศาสนาจะทรงอยู่ได้ตลอด ๕๐๐๐ ปี ทรงตรัสชี้ว่า เขตประเทศต่อไปนี้ จะเป็นประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก จะสามารถทรงพระพุทธศาสนาครบ ๕๐๐๐ ปี นี่หมายถึง ประเทศไทยถ้าสงครามใหญ่เกิดขึ้น คนจะมีความมั่นคงในพุทธศาสนามากขึ้น ในเมื่อเห็นการสูญเสีย ความตายเกิดขึ้น ความทุกข์ก็เกิดขึ้น จิตใจก็เริ่มเป็นกุศล เวลานั้นบรรดาพุทธศาสนิกชน ก็จะมีความมั่นคงในพุทธศาสนามากขึ้น เพราะกลัวตาย…”
เมื่อพิจารณาถึงช่วงเวลาที่ตรงกับ ก่อนกึ่งพุทธกาล ๑๕ ปี กึ่งพุทธกาลคือ ๒,๕๐๐ ปี หนึ่งพุทธกาลคือ ๕,๐๐๐ ปี ก่อนกึ่งพุทธกาล ๑๕ ปี ก็หมายความว่าก่อนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นเวลา ๑๕ ปี ก็จะเป็นช่วง พ.ศ.๒๔๘๕ ตามการคำนวณนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลานี้จริงหรือไม่
ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นสงครามที่เกิดขึ้นมาแล้ว แต่กาลเวลาแห่งพระพุทธศาสนาที่จะทรงอยู่ได้ถึง ๕๐๐๐ ปี เมื่อได้นับครั้งพุทธกาลในช่วงที่อาจมีการนับที่แตกต่างกันออกไป ดังมีการอ้างถึงเกี่ยวกับการนับพระพุทธศักราช ดังปรากฏในวิกิพีเดีย (https://th.wikipedia.org/wiki/พุทธศักราช) ความว่า
“…นอกจากนี้ ยังมีคำว่า “พุทธกาล” และ “พุทธสมัย” ใช้กล่าวถึงช่วงเวลาที่พระโคตมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ คือ ช่วงเวลา ๘๐ ปีก่อนพุทธศักราช แต่บางทีก็ใช้คำเหล่านี้หมายถึง ช่วงเวลาที่เชื่อว่า พุทธศาสนาจะดำรงอยู่หลังการปรินิพพานของพระโคตมพุทธเจ้า ฉะนั้น จึงมีการใช้ x ปีก่อนพุทธกาล เพื่อหมายถึง x ปีก่อนพุทธศักราช เป็นต้น …”
ดังนั้นถ้านับตั้งแต่เริ่มเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะเป็นช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕ บวกกับอีก ๘๐ ปี ก็จะได้ปี พ.ศ.๒๕๖๕ และเมื่อได้พิจารณาจากการนับพุทธศักราช ที่ปรากฏตาม ความรู้เรื่องศักราชที่ใช้ในหนังสือไทย จากเว็บสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่อง พุทธศักราชในประเทศไทย จากเว็บคลังสารสนเทศสถาบันนิติบัญญัติ (Kala Vol. ๑ ๒๐๐๖: ๓๘) ซึ่งมีข้อความที่ปรากฏเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังนี้
“ต้นยุคอ้างอิง (epoch) ของพุทธศักราชตรงกับวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๕๔๔ (ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนวิสาขะ อัญจนศก ๑๔๘) ส่วน พ.ศ. แบบไทยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๕๔๓ จึงทำให้ พ.ศ. แบบไทยช้ากว่าของประเทศอื่นอยู่เกือบ ๑ ปี” (Kala Vol. ๑ ๒๐๐๖: ๓๘)
เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว สงครามตามพุทธพยากรณ์ ที่เป็นสงครามใหญ่เกิดขึ้น “ก็อาจจะตรงกับปี พ.ศ. ๒๕๖๖ พอดี”
ซึ่งเป็นปีที่เกิดสงครามขึ้นระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสรเอลซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ในประเทศไทย และเกิดขึ้นในดินแดนตะวันออกกลาง ซึ่งการขยายคำพุทธพยากรณ์ โดย หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ (พระราชพรหมยาน) ท่านได้กล่าวหลายครั้งว่าเป็นเหตุการที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ท่านบอกว่าจะเป็นศาสนา ๒ ศาสนาที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา คำว่าตะวันออกกลางท่านพระราชพรหมยาน ได้กล่าวถึงตะวันออกกลางไว้หลายต่อหลายครั้ง เช่น
“…สงครามโลกนั่นหมายถึงว่า ทั้งโลกแบ่งกันเป็น ๒ พวก ร่วมกันทั้งหมด แล้วก็ตีกันในระหว่างฝ่ายต่อฝ่าย คือตีกันรบกันอย่างนี้เรียกว่า สงครามโลก แต่สงครามครั้งที่จะเกิดทางด้านตะวันออกกลาง ท่านบอกตรงว่า จะเกิดที่ด้านตะวันออกกลาง เขายังไม่เรียกว่าสงครามโลก เขาเรียกว่า สงครามใหญ่ สงครามใหญ่คราวนี้จะ มีความร้ายแรงไม่น้อย ร้ายแรงกว่าสงครามโลกครั้งที่ ๒ …รวมความว่าคำพยากรณ์ของท่านที่พยากรณ์ว่าจะเกิดที่ตะวันออกกลางก็ตรงแล้ว เวลานี้ตะวันออกกลางจะมีสงคราม…”
สิ่งที่จะขาดแคลนก็จะเป็นอาหาร แม้สงครามเกิดขึ้นในตะวันออกกลางเป็นสงครามระหว่างศาสนา และอาจมีผลจากคนที่นับถือศาสนาที่เป็นคู่ขัดยังนั้นก็อาจส่งผลต่อการขัดแย้งกันในประเทศไทยได้ อาจส่งผลต่อการยึดสถานที่ต่างๆ ในบางพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยก็จะไม่ยอม ในพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากสงครามเหล่านี้ไปด้วย ท่านบอกว่าอาจเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้างก็ต้องคิดกันดู เพราะในประเทศไทยก็มีผู้ที่นับถือศาสนาที่เป็นคู่ขัดแย้งกันของสงครามในตะวันออกกลาง ท่านแจ้งว่าเราอาจจะถูกหางฝนบ้าง มีคนของประเทศไทยล้มตายบ้าง (พระราชพรหมยาน, ปรากฎในธัมมวิโมกข์ ฉบับพิเศษ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี, ๒๕๕๑)
เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามพุทธพยากรณ์
ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในหนังสือพุทธพยากรณ์ได้เขียนเอาไว้ว่า
๑.จะเกิดน้ำท่วม
๒.พายุถล่ม
๓.แผ่นดินแยกและแผ่นดินไหว
๔.ภูเขาไฟระเบิดจังหวัดทางภาคกลาง ๒ ลูกและภาคเหนือตอนล่าง ๓ ลูก
๕. คลื่นยักษ์จากทะเล
๖. โรคระบาด
๗. คลื่นเสียงที่รุนแรงที่สุด
๘. อดอยากขาดแคลนอาหาร
การที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ตามพุทธพยากรณ์จึงยังคงเป็นจริงมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย โดยมาถึงเหตุการณ์ที่ ๖ แล้วคือโรคระบาดใหญ่ตอนที่เกิดโควิด-๑๙ และเหตุการณ์ของลำดับที่ ๗-๘ และเข้าสู่ภาวะของการอดอยากอาหารในโลกนี้ แม้ท่านจะพูดถึงแค่เพียงสงครามใหญ่ แต่ก็มีความรุนแรงมาก จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไป
จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ถ้าเป็นไปตามนี้นี่คือจุดเริ่มต้นของสงครามใหญ่ตาม พุทธพยากรณ์ ตามที่ท่านหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ หรือ พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) เคยได้กล่าวไว้ให้สาธุชนพุทธบริษัทได้เคยรับฟังไว้แล้วนั้น การเตรียมตัวต่างๆ เอาไว้ให้พร้อมที่สุดของประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้เสียหายอะไร แต่เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะรับกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นที่มีผลกระทบกับประเทศไทยตามที่ท่านพระอาจารย์หลวงพ่อเคยได้กล่าวไว้
ขอบคุณภาพ : Blockdit World Update