ทิศทางไทยเสนอรัฐแก้ปัญหาฆ่าตัวตายในช่วงแก้โควิด-19 ระบาดต้องเอาจริง กันฝ่ายแค้นลากเข้าประเด็นการเมือง ทิ่มแทงภายหลังก่อนบานปลาย
ทิศทางไทยเสนอรัฐ-แก้ปัญหาฆ่าตัวตายที่เกิดในช่วงมาตรการแก้การแพร่ระบาดโควิด-19 ด่วนก่อนบานปลาย โดย รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา ประธานยุทธศาสตร์วิจัย สถาบันทิศทางไทย
จากกรณีที่เกิดเหตุฆ่าตัวตายขึ้นในช่วงของการใช้มาตรการแก้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และแม้ว่าในขณะนี้จะมีผลที่ดีมากในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อในประชาชนไทย แต่ในขณะเดียวกันภาวะชะงักงันในทางเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อการหารายได้ของผู้คนทั่วโลก ในประเทศไทยก็ต้องพบกับปัญหาเศรษฐกิจเพราะมีผลมาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
แม้จะส่งผลดีอย่างมากจากการทำงานอย่างทุ่มเทของทุกฝ่าย และการจัดการที่ดีมากของฝ่ายบริหารในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นับเป็นโอกาสของชาติที่จะเกิดผลดีอย่างมากในอนาคตจนไม่สามารถประเมินค่าได้ แต่ถึงกระนั้นปัญหาที่มาจ่ออยู่ตอนนี้ก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นและจะเทียบกับอดีตได้ยากก็เพราะ ผู้คนในชาติมี “ภาวะพึ่งพิงระบบเงินตรา” มากขึ้นทุกที เมื่อประชาชนในชาติหลายส่วนมีรายได้ทางเดียว เมื่อกระทบต่อการหารายได้ ปัญหาการเงินก็เกิดขึ้น การเยียวยาจากรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้มากนัก เพราะการพึ่งพิงเงินมันซับซ้อนและมากขึ้นทุกที เมื่อมีปัญหาการเงินก็จะส่งผลต่อความเครียดทางจิตใจ และมีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 จะส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายและมีผลกระทบต่อจิตใจประชาชนทั่วโลก (Paul Yip Siu-fai, Parichat Chk, April27,2020)
ยิ่งในภาวะปัจจุบันการใช้เศรษฐกิจนำทุกด้านในโลกนี้และประเทศไทยก็เดินตามนี้มาโดยตลอด การกระทบต่อการจ้างงาน ผู้คนตกงานเป็นจำนวนมาก ล้วนส่งผลโดยตรงต่อการประสบปัญหาทางการเงิน “เงิน” กลายเป็นปัจจัยที่มิอาจขาดมือได้แล้วในสถานการณ์โลกปัจจุบัน จากเดิมที่ประเทศไทยเคยมีผู้คนจำนวนมากที่สามารถยังชีพโดยไม่ต้องใช้เงิน เริ่มหาได้ยากขึ้นทุกวันในปัจจุบัน เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แล้วต้องมีมาตรการเข้มงวดเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดมิเช่นนั้นจะส่งผลอันมิอาจประเมินได้ แต่เมื่อส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้และอาจส่งผลต่อปัญหาการเงินของคนในชาติอย่างมหาศาลย่อมส่งผลต่อความเครียดทางจิตใจ การป้องกันการฆ่าตัวตายและทำร้ายตนเองจากผลกระทบดังกล่าวจึงต้องให้ความสำคัญเช่นกัน
เริ่มมีการนำประเด็นนี้มาใช้ในทางการเมืองมากขึ้นแม้การฆ่าตัวตายจากสถิติที่ผ่านมาการฆ่าตัวตายต่อปี จะมากถึง 4-5 พันคน แต่ถ้ามีการฆ่าตัวตายในช่วงนี้ก็จะอาจถูกฝ่ายการเมืองนำมาใช้เหมารวมว่าเกิดจากมาตรการของรัฐบาลหรือเกิดจากผู้นำทั้งสิ้น ดังคำที่ถูกประโคมและใช้เป็นส่วนหนึ่งในการโจมตีผู้นำในสื่อสังคมออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง ว่าผู้นำไม่มีความรู้ความสามารถประชาชนจะตายกันหมด แม้จะแก้ปัญหาสำคัญได้ก็จะมองข้ามประเด็นที่สำเร็จไปและนำเรื่องความตายของประชาชนมาใช้โจมตีรัฐบาลและผู้นำต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่แย่มากที่นำเรื่องการตายของผู้คนมาใช้ในทางการเมืองและประโยชน์ของฝ่ายตน แต่รัฐบาลก็ต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างเอาจริงเช่นกันไม่ใช่มาตอบโต้ทางการเมืองไม่ว่าจะมีผลมาจากสถานการณ์อื่นหรือจากมาตรการของการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องมาโต้แย้งกัน รัฐบาลต้องยอมรับและไม่โต้แย้ง เพราะเป็นเรื่องของความเศร้าโศรกเสียใจ เป็นเรื่องของการสูญเสียที่เห็นใจ ต้องให้กำลังใจกับญาติผู้เกี่ยวข้อง
สถาบันทิศทางไทยขอเสนอไปยังรัฐบาลและ ศบค. ให้นำเรื่องนี้มาพิจารณาอย่างเร่งด่วน มีการดำเนินการโดยคณะกรรมการที่มีความรู้ รวบรวม รับฟังข้อมูล ที่จัดทำเป็นระบบ และระดมสรรพกำลังเพื่อให้มีหน่วยงานเครือข่ายที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับการป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ เช่น ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ (suicide.dmh.go.th) กรมสุขภาพจิต องค์กรภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรภาคเอกชน มูลนิธิ เพื่อใช้มาตรการเชิงรุกในการรับฟังปัญหา การมีเครือข่ายหน่วยเคลื่อนที่เร็ว หน่วยเจรจา เพื่อแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเอง อย่างเอาจริงเอาจัง และรายงานมายังรัฐบาลหรืออาจขึ้นต่อ ศบค. เพื่อแถลงในเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย
ไม่เช่นนั้นการนำไปสู่ประเด็นการเมืองของฝ่ายแค้น ฝ่ายตรงข้าม ที่ไม่เคยมองเห็นผลงานของรัฐบาล ศบค. และผลดีต่างๆ ทีเกิดขึ้นกับชาติ แต่นำเรื่องอื่นมาทิ่มแทงและดูแคลนชาติตนในขณะที่ฝ่ายอื่นกำลังปกครองอยู่เสมอ ประเด็น การฆ่าตัวตาย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รัฐจึงต้องเอาจริง อย่าให้เป็นประเด็นที่ถูกใช้ทางการเมืองได้และอาจส่งผลเสียอันยิ่งใหญ่กลับมาทิ่มแทงต่อไป