ได้ลุ้นกันอีกครั้งเมื่อกกต.มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีธนาธร ปล่อยเงินให้พรรคอนาคตใหม่ 191ล้าน อันเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าเป็นการบริจาคและแหล่งนั้นนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะนำพาไปสู่การพิจารณาถึงขั้นยุบพรรค?!? ขณะที่สายตาสังคมส่วนหนึ่งพลันจับจ้องไปที่มือกฏหมายของพรรคผู้หาตัวจับยาก!?! ว่างานนี้คงจะต้องทบทวนตั้งคำถามกับตนเองบ้างหรือไม่??? ด้วยผลจาก2คดีติดๆกัน
9 ธ.ค. 62 น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีเอกสารการแสดงความคิดเห็นของบุคคลใน กกต.กรณีพรรคอนาคตใหม่ได้กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่มีการเผยแพร่ไปทางโซเชียลมีเดีย โดยในเอกสารระบุวันที่ 20 กันยายน
ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการเรียกเอกสารจากพรรคอนาคตใหม่ที่มีการเรียกในเดือนตุลาคม จึงตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทางกกต.ได้รับใบสั่งทางการเมืองจะจัดการคดีเงินกู้พรรคนาคตใหม่อย่างไร ส่วนการเรียกเอกสารต่างๆ เป็นไปเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา หรือเป็นไปเพื่อให้พอเป็นพิธี เพื่อให้ครบตามขั้นตอนที่ควรจะเป็นหรือไม่
“ พรรคอนาคตใหม่ ย้ำว่าใบสั่งทางการเมืองไม่ได้มีใบเดียว เพราะทราบมาว่ามีใบสั่งอีกทางที่ต้องการส่งคดีความของพรรคอนาคตใหม่ให้ไปอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรค ทั้งที่ในฐานความผิดไม่สามารถนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญและยุบพรรคได้จึงขอให้ประชาชนจับตามองว่าใบสั่งทางการเมืองจะมีผลจริงหรือไม่” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว
10 ธ.ค.62 กกต.ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณี น.ส.พรรณิการ์ แถลงว่า กกต.พิจารณาการกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่เป็นไปโดยมีธงทางการเมืองหรือมีใบสั่งทางการเมืองหรือไม่ โดยกกต.ชี้ตามไทม์ไลน์ดังนี้
- ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 เลขาธิการ กกต.ต้องมีความเห็นในสำนวนการสืบสวนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ กกต. ซึ่งกรณีนี้เลขาธิการ กกต. ได้มีความเห็น เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 62 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวข้างต้น โดยการเสนอความเห็นในสำนวนเป็นไปตามขั้นตอน ของระเบียบมิใช่การชี้นำในสำนวนการสืบสวน
2 . เมื่อ 25 ก.ย.62 เลขาธิการ กกต.ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินอยู่ในขั้นตอนของคณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องและปัญหาหรือข้อโต้แย้ง เพื่อพิจารณาและมีความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการ กกต.ตามระเบียบต่อไป
3 . เมื่อวันที่ 11 ต.ค.62 และวันที่ 23 ต.ค.62 ประธานกรรมการ กกต.ได้ให้ข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนมิได้เร่งรัด โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้ขอเอกสารจากพรรคอนาคตใหม่เพื่อประกอบการพิจารณา แต่พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้จัดส่งเอกสารตามที่ขอ คณะอนุฯ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่มี ทำความเห็นเสนอต่อกกต.
- กกต.ได้มีมติเมื่อวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.62 ขอเอกสารที่คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องฯเคยขอจากพรรคอนาคตใหม่ แต่พรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งเอกสารที่ขอให้บางส่วน และขอขยายเวลาการจัดส่งเอกสารที่ยังไม่ได้จัดส่งออกไปอีก 120 วัน
- กกต.มีมติ 26 พ.ย.62 ขอเอกสารที่พรรคอนาคตใหม่ยังไม่ได้จัดส่งอีกครั้ง โดยให้จัดส่งเอกสารภายในวันที่ 2 ธ.ค.62 หากพรรคอนาคตใหม่ไม่จัดส่งเอกสารภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ถือว่าพรรคไม่ติดใจที่จะส่งเอกสารตามที่กกต.ร้องขอ และจะพิจารณาเอกสารเท่าที่มีอยู่
ดังนั้น การดำเนินการของกกต.เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน และให้โอกาสผู้ที่เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี โดยคณะกรรมการ กกต. มิได้มีความเห็นตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.62 ตามที่มีการกล่าวอ้าง และไม่ได้มีเหตุจูงใจทางการเมืองแต่อย่างใด
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งนัดประชุม 11 ธ.ค.2562 โดยตั้งประเด็นตามคำร้อง 2 ประเด็น คือ 1.การกู้เงินถือเป็นการบริจาคของบุคคลเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปีตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ 2.การกู้เงินดังกล่าวถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเข้าข่ายเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่
“เพราะเมื่อพิจารณาตามมาตรา 62 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงิน มาดำเนินกิจการพรรคการเมืองได้ หากชี้แจงว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินบริจาค ซึ่งกฎหมายกำหนดให้บริจาคได้เพียง 10 ล้านบาท
การให้พรรคกู้เงินจึงอาจจะเข้าข่ายของการเป็นนิติกรรมอำพราง เป็นการได้เงินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก็จะเข้าข่ายตามมาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะมีความผิดตามมาตรา 92(3) เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคได้”
11 ธ.ค. 62 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึง กกต.จะพิจารณาเรื่องเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่ ว่า เมื่อเปิดกฎหมายดูก็ไม่ได้ห้ามให้กู้เงิน และพรรคการเมืองก็เป็นนิติบุคคลเอกชน หมายความว่าพรรคมีเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้ เว้นกฎหมายจะห้ามไว้
การห้ามต้องห้ามอย่างชัดแจ้ง แต่พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ได้ห้ามไว้ชัด ไม่มีบทบัญญัติไหนเขียนว่าห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน มีแต่เรื่องห้ามรับเงินต่างชาติและห้ามตั้งสาขาพรรคนอกประเทศ
ส่วนกรณีกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 62 ว่าด้วยที่มารายได้ของพรรคการเมือง ก็ไม่มีเรื่องเงินกู้ ตนยืนยันว่าเงินกู้ไม่ใช่รายได้ แต่อยู่ในสัดส่วนของหนี้สิน ถ้าหากคิดว่าเงินกู้เป็นรายได้เช่นนี้ก็ไม่ต้องบรรจุเงินกู้ในบัญชีหนี้ ตอนนี้เริ่มมีการอธิบายตามเอกสารที่ออกมา ในแนวทางเหมือนจะระบุว่าเงินกู้ดังกล่าวเป็นเงินบริจาค เป็นนิติกรรมอำพรางใช่หรือไม่
“การโยงว่าพรรครับเงินผิดกฎหมายมาหรือไม่นั้น ตามมาตรา 72 ออกแบบมาเพื่อสำหรับพรรคการเมืองที่รับเงินผิดกฎหมาย เช่น ซ่องโจร ฟอกเงิน ค้ายาเสพติด เป็นต้น มาใช้จ่ายในพรรค เมื่อตนสำรวจกฎหมายหมดแล้วไม่มีมาตราใดที่เอาผิดได้” นายปิยบุตร กล่าว
11 ธ.ค.62 วันเดียวกัน กกต.ได้ประชุมพิจารณารายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของสำนักงานกกต.กรณีนายธนาธร ซึ่งมีมติส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ยุบพรรคอนาคตใหม่โดยมีเหตุอันเชื่อได้ว่า เป็นการรับบริจาคเงินโดย แหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 72 ของกฎหมายพรรคการเมือง
ทั้งนี้ที่ระบุ ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ตามมาตรา 92(3) ของกฎหมายพรรคการเมือง
สำหรับ มาตรา 72 ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 92 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2560 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมือง
(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(3) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74
(4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
จะเห็นว่าความคิดเห็นของนักกฎหมายอย่างนายปิยบุตร กับมติของกกต.ดูจะสวนทางกันด้วยมุมมองการตีความ ซึ่งเรื่องนี้ต้องไม่ลืมว่าฝ่ายกกต.เป็นผู้สอบสวนตรวจสอบโดยมีพยานหลักฐานเป็นหลักในการพิจารณา ขณะที่ดูเหมือนนายปิยบุตร จะใช้หลักการตีความที่เข้าข้างตัวเองและพรรคหรือไม่ แต่ประการสำคัญคือถูกต้องหรือไม่???
29 พ.ย.62 นายธนาธร ได้แถลงลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยช่วงหนึ่งของเนื้อหาระบุถึงนายปิยบุตรไว้ด้วยว่า
“ถึงแม้ผมจะลาออกจากสภาไป แต่การทำงานของพรรคอนาคตใหม่ในสภาผู้แทนราษฎรก็ยังมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคฯ เป็นผู้นำอยู่ ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ และเป็นนักกฎหมายมหาชนที่หาตัวจับได้ยาก ซึ่งผลงานที่ผ่านมาก็เป็นเครื่องพิสูจน์” นายธนาธร กล่าว
30 พ.ย.62 นายชูชาติ ศรีแสง อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ถึงนายธนาธรและนายปิยบุตร ถึงการให้ความเห็นในข้อกฎหมายไว้อย่างน่าสนใจ และน่าพิจารณาเมื่อมาถึงสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับคดีการปล่อยกู้ว่า
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญหาคนจับได้ยาก ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ว่านายธนาธรขาดจากสมาชิกภาพ ส.ส. เนื่องจากต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งเพราะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจสื่อมวลชน
กกต. กำลังพิจารณาว่า นายธนาธรสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกต้ังเป็น ส.ส. ตาม พรป.เลือกตั้ง มาตรา 151 ซึ่งต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20000 บาทถึง 200000 บาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี หรือไม่
ทั้ง กกต. กำลังพิจารณาด้วยว่า การที่นายธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 191 ล้านบาทเศษ เป็นการฝ่าฝืน พรป.พรรคการเมือง มาตรา 66 หรือไม่
ถ้า กกต.พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่านายธนาธรบริจาคเงินหรือประโยชน์อื่นใดให้พรรคอนาคตใหม่มีมูลค้าเกิน 10 ล้านบาท เป็นการไม่ปฏิบัติตาม พรป.พรรคการเมือง มาตรา 66 วรรคหนึ่งจริง ผลที่จะตามมาคือ มาตรา 124 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100000 บาทหรือทั้งจําทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 5 ปี
ทั้งพรรคอนาคตใหม่ซึ่งรับเงินหรือประโยชน์อื่นใดจากนายธนาธรก็ย่อมเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน มาตรา 66 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่ง(คือเกิน 10 ล้านบาท)มิได้ ผลที่จะตามมาคือ
มาตรา 125 พรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินที่กําหนดไว้ในมาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1000000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอน สิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกําหนด 5 ปี และให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กําหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุน
ซึ่งข้อความในบรรทัดสุดท้ายที่อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาศาลฏีกา ได้ทิ้งเป็นคำถามไว้ถึงอดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตสมาชิกคณะนิติราษฎร์ ผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยและฝรั่งเศส!!! มาถึงวันนี้ก็พอจะทราบคำตอบกันแล้ว??? โดยประโยคคำถามนั้นมีอยู่ว่า…
อีกไม่นานจะได้รู้กันว่านายปิยบุตรเป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญหาคนจับได้ยากอย่างที่นายธนาธรชื่นชมหรือไม่???