จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงยังจำเป็นต้องต่อพรก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน ส่วนข้อกำหนดต่างๆ ยังคงใช้อยู่ทั้งการเคลื่อนย้าย การควบคุมการแผ่ระบาดโควิด-19
“ผมทราบดีถึงความลำบากของทุกคน ท่านลำบาก ผมก็ลำบาก ผมก็เข้าใจดีถึงผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐบาลก็มีมาตรการหลายอย่างออกมาช่วยเหลือเยียวยา ในครั้งแรกเราประมากการณ์ไว้ 3 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีมากกว่าหลายสิบล้านคน ก็ต้องทยอยดำเนินการไปตามสัดส่วนงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งเงินรายจ่ายประจำ งบกลางที่เหลืออยู่ และพรก.เงินกู้ เพื่อนำมาเยียวยา ซึ่งอย่างน้อยเราก็ดูแลทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ กลุ่มเปราะบาง”
ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการแบ่งออกเป็นระยะที่ 1(สีขาว) ระยะที่ 2(สีเขียว) ระยะที่ 3(สีเหลือง) และระยะที่ 4(สีแดง) โดยแต่ละระยะแบ่งห่างกัน 14 วัน และจะมีการประเมินว่า หากมีการผ่อนปรนไปมีการแพร่ระบาดอีกหรือไม่ จำเป็นต้องปิดอีกหรือไม่ ดังนั้น จะมีการประกาศต่อไปว่า ระยะที่ 1 มีกิจกรรมอะไรบ้าง
ในท้องถิ่นต่างๆ ผู้ประกอบการทั้งหมด ต้องมีมาตรการคุมเข้มออกมาด้วย เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยชีวิตประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น หากมีการผ่อนคลายระยะที่ 1 ต้องทำให้ดีที่สุด โดยแบ่งเป็นสีๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด มีมาตรการเว้นระยะทางสังคมยังต้องมี และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขยายไป 1 เดือน ถึงวันที่ 31 พ.ค. ส่วนเคอร์ฟิว 22.00 -04.00 น. ยังเหมือนเดิมรวมทั้งการจำกัดการเดินทางยังเหมือนเดิม ส่วนมาตรการผ่อนปรนจะทำเป็นระยะๆ และมีการประเมินตามที่กล่าวไป
ขณะที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ยังคงปรากฏอยู่ แม้จะควบคุมไว้ได้ในระดับหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขไทย ความเข้าใจ สถานการณ์ และที่สำคัญคือความร่วมมือจากภาคประชาชน
แต่เนื่องจากโรคนี้ยังคงระบาดรุนแรง อยู่ในหลายประเทศและยังมีการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ตลอดจนการไปมาหาสู่ข้ามจังหวัด และการไม่นำพาต่อมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด อันแสดงให้เห็นถึงโอกาสเสี่ยงต่อ การแพร่เชื้อ อีกทั้งองค์การอนามัยโลกได้เตือนให้การผ่อนคลายหรือการยกเลิกมาตรการป้องกันโรค พึงทำด้วยความระมัดระวังและตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะเป็นที่ปรากฏแล้วว่าภายหลังการยกเลิก การควบคุม สถานการณ์ในบางประเทศได้กลับมารุนแรงขึ้นใหม่
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้อง ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลจะได้ประเมินสถานการณ์ โดยอาจเพิ่มความเข้มงวดหรือผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการตามข้อมูลของฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง และฝ่ายเศรษฐกิจ
ล่าสุดวันนี้(30เม.ย.63) นายวัน อยู่บำรุง ลูกชาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กถึงเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า
ต่อพรก.อีกหนึ่งเดือน
ปิดหนีโควิด
หรือหนีม็อบ
ที่มา : เฟซบุ๊ก วัน อยู่บำรุง