“เราไม่พบหลักฐานที่ชี้ว่าจีนปรับเปลี่ยนสถิติเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของตน” โดยนักวิจัยใช้กฎของเบนฟอร์ดซึ่งเป็นเทคนิคตรวจจับการทุจริตทางสถิติ ในการประเมินความถูกต้องของสถิติดังกล่าว
หลังวิเคราะห์ด้วยกฎของเบนฟอร์ด (Benford’s law) คณะนักวิจัยชี้ว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่าจีนปรับแต่งข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) พร้อมกล่าวว่าข้อมูลของจีนไม่เพียงแต่ควรถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบสอบเทียบในการประกาศมาตรการชะลอการติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังเป็นนโยบายที่สามารถแนะแนวทางแก่ประเทศอื่นๆ ได้ด้วย
การศึกษาซึ่งจัดทำโดยคริสโทฟเฟอร์ คอก (Christoffer Koch) นักเศรษฐศาสตร์วิจัยอาวุโสจากธนาคารกลางดัลลัส (Federal Research Bank of Dallas) และเคน โอคะมุระ (Ken Okamura) นักวิจัยจากคณะบริหารธุรกิจซาอิด (Said Business School) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และลงวันที่ 28 เม.ย. ได้เผยผลลัพธ์ที่ตรงข้ามกับข้อสันนิษฐานที่ว่าจีนรายงานตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 น้อยกว่าความเป็นจริง
ทั้งนี้ กฎของเบนฟอร์ดคือกฎที่ใช้ในการตรวจจับการทุจริตหรือข้อบกพร่องในการรวบรวมข้อมูลตามการกระจายตัวของเลขหลักแรกของข้อมูล
ข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของจีนแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมาตรการกักกันในการชะลอการแพร่ระบาดของโรค ทั้งในมณฑลหูเป่ยและมณฑลอื่นๆ ของประเทศ
การศึกษาพบว่า “การกระจายตัวของเลขหลักแรกของยอดผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันของจีน สอดคล้องกับกฎของเบนฟอร์ด … ทั้งยังตรงกับการกระจายตัว (ของเลข) ในสหรัฐฯ และอิตาลี”
“การปรับเปลี่ยนข้อมูลจีนในกรณีนี้จำเป็นต้องมีบางคนคอยประสานงานกับการประกาศประจำวันของทุกมณฑล ทั้งยังต้องคาดการณ์อัตราการติดเชื้อในอนาคตได้อย่างแม่นยำ สิ่งเหล่านี้ไม่น่าเกิดขึ้นได้” การศึกษาระบุ
การศึกษายังชี้ว่าข้อกังขาที่เกิดขึ้นเรื่อยมาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของข้อมูลของจีนนั้นก่อให้เกิดปัญหา เนื่องจาก “มันส่งผลกระทบต่อทางเลือกนโยบายของประเทศต่างๆ ที่เผชิญกับการแพร่ระบาดในภายหลัง”