ยกเรื่องปรับเกณฑ์ทหารเพื่อปฏิรูปกองทัพ ใครจะเชื่อว่าต้องการให้ดีขึ้นในเมื่อด่าทหารอยู่ทุกวัน

0

ยกเรื่องปรับเกณฑ์ทหารเพื่อปฏิรูปกองทัพ ใครจะเชื่อว่าต้องการให้ดีขึ้นในเมื่อด่าทหารอยู่ทุกวัน

รศ.ดร.แสงเทียน อยู่เถา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จากกรณีที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งได้เสนอแนวคิด ร่าง พ.ร.บ.การรับราชการทหาร เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.เดิม โดยชูธงเรื่องการปฏิรูประบบการรับราชการของทหารกองประจำการ และการปฏิรูปกองทัพ เน้นการใช้วาทกรรม “เลิกการเกณฑ์ทหาร” ในการรณรงค์และหาแนวร่วมในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น

จึงมีข้อสงสัยเป็นอย่างมากว่าในขณะที่มีการด่าทหารมาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องการปฏิรูปกองทัพ จะทำให้กองทัพเข้มแข็งขึ้น จะให้เชื่อก็คงจะยาก เพราะแค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ว่า “ต้องการลดศักยภาพกองทัพ” เพราะเห็นกองทัพและการทหารคือปราการด่านสำคัญของการขวางความเปลี่ยนแปลงไปตามแนวคิดที่แท้จริงของผุ้นำเสนอการปรับปรุงในเรื่องนี้หรือไม่?

โดยที่ผ่านมามีสื่อบางสำนักได้เสนอแนวคิดนักวิชาการที่มีความเห็นสนับสนุนแนวทางของการปฏิรูประบบการรับราชการของทหารกองประจำการ และการปฏิรูปกองทัพ หรือมีความเห็นด้วยการกับเลิกทหารเกณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรณรงค์การเลิกเกณฑ์ทหารด้วยมุมมองและข้อมูลเพียงด้านเดียวไปสู่เยาวชน และสาธารณะ โดยมีประโยคเด็ดในการรณรงค์คือ “การไปเป็นทหารเกณฑ์เป็นการเสียโอกาสในชีวิต” มีการสนับสนุนเรื่องของการเสียโอกาสของหลายๆ คนในการไปเป็นทหารเกณฑ์ และพยายามชี้ให้เห็นว่า ทุกอาชีพก็สามารถรับใช้ชาติ รักชาติได้ อย่าไปผูกขาดความรักชาติด้วยการเกณฑ์ทหาร

มีการนำเสนอความคิดเห็นในทางลบของการมีการเกณฑ์ทหารมากมาย เช่น ที่บอกว่าไปเป็นทหารเกณฑ์จะได้ประสบการณ์ของชีวิตลูกผู้ชาย กองทัพก็ไม่เคยทำภาพออกมาชัดๆ ว่าได้ประสบการณ์ยังไง เข้าไปแล้วจะดีกับชีวิตยังไง มีการยกตัวอย่างภาพที่เกิดขึ้นในการคัดเลือกการเกณฑ์ทหารว่ามีภาพหลวงพี่กระโดดดีใจเมื่อจับได้ใบดำ หรือหนุ่มกล้ามโตบางคนเป็นลมหมดสติเมื่อจับใบแดง ขณะที่คนไม่ได้เข้าไปดีใจจนต้องแก้บนที่ไปขอไว้ การชี้ให้ว่ามีการใช้ทหารเกณฑ์ไปรับใช้ตามบ้านของนายทหารต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นความล้มเหลวของการเกณฑ์ทหารและเป็นความล้มเหลวขององค์กรทหารที่ควรทบทวนตัวเอง พร้อมกับคำถามที่ว่า “เคยมีการประเมินหรือไม่ว่า ทหารเกณฑ์มีดีกว่าหรือไม่มีดีกว่า เมืองนอกมีระบบความสมัครใจ เพราะทหารเกณฑ์เป็นความสิ้นเปลืองของกองทัพ และจ่ายแพงกว่า ทหารเกณฑ์คือแรงงานไร้ฝีมือ เป็นนักรบที่ไร้ประสิทธิภาพ ความเชี่ยวชาญทางทักษะไม่มี เพราะชั่วโมงรบน้อย” (ข่าวสดออนไลน์, 2562)

เมื่อพิจารณาจากการนำเสนอก็เป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวทั้งทางสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์มาอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นข้อมูลที่เสพบ่อยๆ ก็จะเชื่อไปตามข้อมูลนั้นอย่างแน่นอน แต่มุมมองด้านบวกของการเกณฑ์ทหารในขณะนี้ยังมีน้อยมากที่จะได้รับการนำเสนอออกสู่สาธารณะ

ทหารเกณฑ์ เป็น ทหารปราจำการชั่วคราว ที่มีต้นทุนน้อยที่สุดแต่ได้ประโยชน์มากมาย ทำให้ได้เห็นว่าการปกป้องประเทศเป็นของชายไทยทุกคน จึงเป็นที่มาของคำว่า “รับใช้ชาติ” การได้กระทำเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเป็นคนที่ภาคภูมิใจในความเป็นชาติ หน้าที่จึงควรมาก่อนสิทธิ เมื่อกำหนดว่าการปกป้องประเทศเป็นของทุกคน การเกณฑ์ทหารจึงเป็นเรื่องตรงไปตรงมาที่สุดในการที่แสดงออกถึงความจริงใจในการรับใช้ชาติ มีพัฒนาการของการเข้าเป็นทหารเกณฑ์มาอย่างต่อเนื่องมีทางเลือกทั้งการผ่อนผัน การศึกษาวิชาทหาร (ร.ด.) ของนักเรียนนักศึกษา สามารถสมัครใจ แต่ที่ผ่านมาก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าการสมัครใจก็ยังไม่เพียงพอมีคนสมัครในปริมาณไม่ถึงกึ่งหนึ่งเท่านั้น

หลายท่านพยายามชี้ให้เห็นว่าควรรับสมัครแบบเดียวแล้วมีค่าตอบแทน แรงจูงใจที่ดี แต่ถ้าทำเช่นนั้นก็ไม่ต่างกับการรับเข้าตำรวจที่ต้องมีโรงเรียนในการฝึก ซึ่งทหารก็มีในส่วนนั้นอยู่แล้วถ้าให้รับราชการก็จะต้องปฏิบัติงานไปจนเกษียณ แต่การเกณฑ์ทหารเป็นการนำบุคคลที่มีความพร้อมของสมรรถนะทางกายที่อยู่ในช่วงที่พร้อมที่สุด ที่นำมาใช้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ถ้าให้สมัครใจทั้งหมดกองทัพจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถพิเศษอื่นๆ เข้าไปศึกษาและเข้าใจกองทัพได้อย่างไร เช่น ผู้ที่เรียนเก่งๆ มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีหรือระบบคอมพิวเตอร์ พ่อค้าหรือนักลงทุนที่มีความรู้ดีๆ หรืออาจเป็นผู้มีความสามารถเฉพาะ เช่น ศิลปินนักร้อง นักแสดง จะได้เสริมความพิเศษให้กองทัพ และออกมาหลังปลดประจำการก็สามารถเผยแพร่ภาพลักษณ์ของกองทัพได้

ภาพในเชิงบวกแบบนี้มีน้อยมากที่จะได้รับทราบ แม้จะมีบางคนเสียโอกาสตามที่มีการโจมมีของกลุ่มที่เห็นด้วยกับการเลิกเกณฑ์ทหาร แต่กลุ่มวัยรุ่นที่อยู่อย่างไร้ระเบียบ สำมะเลเทเมาจนพ่อแม่เอือมระอา จนหลายคนกลายเป็นทาสยาเสพติด ขี้เหล้า ติดการพนัน นักเลงหัวไม้ หรือแม้แต่ริอาจเป็นโจร กลุ่มคนเหล่านี้พ่อแม่ผู้ปกครองเหมือนได้ลูกคนใหม่กลับมาหลังปลดประจำการ ภาพแบบนี้กลับไม่ได้รับการกล่าวถึงหรือน้อยมากที่จะได้รับรู้ในประเด็นเหล่านี้ การที่ต้องมีทหารที่มีความพร้อมจากคนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพในประเทศเข้าไปเรียนรู้วิชาการทหารในช่วงที่มีสมรรถนะทางกายพร้อมมีความจำเป็นอย่างมาก คนในกลุ่มต่างๆ เหล่านั้นพร้อมที่จะเป็นกำลังรบนอกประจำการที่มีศักยภาพตลอดเวลาได้อีกหลายปี เพราะทหารเป็น “พลังอำนาจของชาติ”

ที่สำคัญมากตามทฤษฎีพลังอำนาจแห่งชาติ เชื่อว่ายังมีมุมเหล่านี้อีกมากที่ถูกมองข้ามและไม่กล่าวถึงเลยในกลุ่มที่รณรงค์ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ขอเรียกร้องให้กลุ่มต่างๆ ได้นำข้อมูลในเชิงบวกของการเกณฑ์ทหาร เพื่อนำเสนอข้อมูลด้านบวกบ้างในการไปเป็นข้อมูลที่ชี้ให้คนทั่วไปได้เล็งเห็นว่าการเกณฑ์ทหารจะพัฒนาต่อไปอย่างไร

อย่าให้คนบางกลุ่มรณรงค์ให้ข้อมูลเพียงด้านลบด้านเดียว เพื่อหวังหาแนวร่วมส่งผลต่อคะแนนความนิยมในกลุ่มตนในการเข้าสู่การมีอำนาจรัฐ เหมือนการ “ด่าทหาร” ที่กลายเป็น “สะพานเข้าสู่สภา” ของคนหลายคนเหมือนดังช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา