รมว.ศธ.พูดแล้วเด็กไปรร.ได้วันไหน เงื่อนไขไหนเปิดได้ปกติ? งานนี้มีคนไม่ปลื้มแน่

0

จากที่หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ “คุณปลื้ม” พิธีกร และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ โดยระบุบางช่วงว่า ถ้ายังมีคนบอกว่า E-Learning ทางไกลเเบบ Remote/Distant ดีสำหรับเด็กเเละจำเป็นผมขอเชิญไปปรับทัศนคติ

“เด็กวัยเจริญพันธุ์ไม่ควรจะต้องมานั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน การที่อยู่ในวัยเรียนรู้เขาควรได้รับโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมโลกกับครูบาอาจารย์ ในสภาวะที่ไม่มีโรคระบาดที่เป็นภัยคุกคามต่อเด็ก โรงเรียนจะต้องทำหน้าที่สอนเด็ก ไม่ใช่พ่อเเม่ต้องหยุดงานนั่งประกบลูกหลานอยู่ที่บ้าน

วิงวอนอีกครั้ง (เพราะยังมีคนคิดอย่างนี้อยู่ในกระทรวงเเละรัฐบาล) ที่ยังคิดพยายามยัดเยียดการบังคับเรียนที่บ้านให้กับเด็กไทยทั้งประเทศว่าอย่าเเม้เเต่คิด โรคระบาดคุมอยู่ เเละไม่ได้ระบาดในเด็กเลย รัฐต้องช่วยพยายามลดความกลัวของผู้ปกครองที่ยังได้ข้อมูลไม่ทั่วถึงว่าการพาลูกไปโรงเรียนนั้นเวลานี้ปลอดภัยเเล้ว

ส่วนการเปิดเทอมเปิดได้ตรงเวลาเรียนที่โรงเรียนตั้งเเต่ 1 ก.ค.ได้อย่างเเน่นอน เเละเอาที่จริงเเล้วเปิด 1 มิถุนายนก็ได้ถ้าใช้มันสมองคิด ไม่ใช่ปอด เด็กต้องได้พบเพื่อน ทำกิจกรรม เรียนกับครูตัวต่อตัวเเละในกลุ่มไม่ใช่ผ่านอินเตอร์เน็ตเเละเด็กจำเป็นต้องได้วิ่งเล่นเเละออกกำลังกาย ส่วนถ้ามีจนท.รัฐหรือผู้บริหารในรัฐบาลยังไม่ตื่นเเละทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ไม่สำเร็จผมเเนะนำว่าควรไปปรับทัศนคติ บางทีฟังตัวเลขที่ศบค.เเถลงบ้างก็ดีเเล้วหันไปมองตัวเลขในยุโรปจะได้เข้าใจอาการของโรคนี้ในประเทศไทยของเรา

นี่ไม่ใช่วิกฤติฉุกเฉินเลยอีกต่อไป มีโรคระบาดอีกเยอะเเละปัจจัยเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวันอีกเยอะสำหรับลูกหลานของเรา COVID19 นั้นไม่ใช่เลย พอได้เเล้ว เเละรบกวนศธ./ผู้ว่าฯสั่งเปิดร.ร.เรียนพิเศษต่างต่างที่ขึ้นกับกระทรวงตั้งเเต่ 1 พ.ค.หรือ 1 มิ.ย.ได้เเล้วเกินไปกว่านั้นถือว่าช้าไป” คุณปลื้ม ระบุ

ล่าสุดวันนี้(29เม.ย.63) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมมอบนโยบายการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ สำหรับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ว่า การเรียนการสอนของอาชีวศึกษาต้องผสมผสานทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ  ซึ่งการเรียนอาชีวะส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปที่การเรียนภาคปฏิบัติ ดังนั้นขอให้วิทยาลัยทุกแห่งเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่

การจัดแบ่งเวลาเรียนภาคปฏิบัติของนักศึกษาให้มีความเหมาะสม และปฏิบัติตามมาตรการการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัดด้วย เป็นต้น  ส่วนการเรียนออนไลน์ในภาคทฤษฎี ตนคิดว่านักศึกษาอาชีวะส่วนใหญ่มีอุปกรณ์ที่พร้อมใช้สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์อยู่แล้วจึงไม่น่ามีปัญหา นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าว ตนได้มอบแนวทางให้แก้ผู้บริหารวิทยาลัยด้วยว่าการจัดการอาชีวศึกษามีความสำคัญ เพราะเชื่อมโยงไปถึงการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะจะต้องมาจากผู้เรียนอาชีวะ ซึ่งตนอยากให้อาชีวศึกษาเป็นกำลังหลักผลักดันการขยายตัวธุรกิจของประเทศไทยได้

นอกจากนี้ในส่วนของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม ซึ่งในเรื่องนี้ตนขอย้ำว่าการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม จะถือเป็นการเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพราะหากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังไม่พ้นวิกฤตก็จำเป็นจะต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่เราวางแผนไว้ ซึ่ง ศธ.พยายามที่อยากจะให้มีการเรียนการสอนที่โรงเรียนมากกว่า แต่หากไม่สามารถให้นักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนเป็นการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ได้ก็ต้องมีการสอนออนไลน์ผสมผสานกันไป

“โดยใช้ช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด 17 ช่องครอบคลุมการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ช่อง ส่วนอีก 2 ช่องเป็นของสถานศึกษา กศน.และอาชีวศึกษา เพื่อทำให้การเรียนการสอนขับเคลื่อนไปได้ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ทางศธ.จะประเมินภาพรวมอีกครั้งว่าโรงเรียนไหนสามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติที่โรงเรียนได้ เช่น หากพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ และบริหารจัดการโรคระบาดได้ โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนั้นก็สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ เป็นต้น”