หลังกองทัพเรือกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ของอิหร่าน เปิดการฝึกทางทหารในอ่าวเปอร์เซียอย่างเซอร์ไพรซ์เมื่อต้นเดือนนี้ สหรัฐฯนั่งไม่ติดรีบส่งนาวิกโยธินกว่า ๓ กองพันเข้าประจำการฐานทัพในทะเลแดง อ้างจะเอาไว้คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันซึ่งถูกอิหร่านยึดบ่อย
ปรากฎว่าอิหร่านไม่สนใจอาการร้อนรนของเมกาเลย เดินหน้าติดตั้งอาวุธพิสัยไกลและโดรนกามิกาเซ่ รวมถึงอิเล็คทรอนิกส์วอร์แฟร์ กับกองเรือที่ลาดตระเวนน่านน้ำอ่าวเปอร์เซียและอ่าวเฮอร์มุซอย่างขมักเขม้น ดูเหมือนว่ากำลังรอต้อนรับทีมบู๊ของสหรัฐฯที่ขู่ว่าจะไม่ยอมให้อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันในย่านนี้อีก
ถ้าดูตามภูมิศาสตร์แล้ว ผู้ที่ยึดกุมปากอ่าว เกาะแก่งต่าง ๆ ในยามทำสงครามมักจะถือครองความได้เปรียบเอาไว้ได้เสมอ และตะวันออกกลาง ก็ไม่ต่างจากภูมิศาสตร์ในส่วนอื่น ๆ ของโลก ภูมิภาคแห่งนี้มีพื้นที่อ่าวสำคัญ ๆ อยู่ด้วยกันประกอบด้วย ทะเลดำ , ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน , ทะเลแดง และ อ่าวเปอร์เซีย ซึ่งทั้งหมดเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคแห่งนี้ การปักหมุดของเมกาและอิหร่านแม้จะต่างทะเลแต่อยู่ในจุดที่เคลื่อนไหวเผชิญหน้ากันโดยใช้เวลาไม่นาน เท่ากับคุมเชิงกันโดยตรง สำหรับสหรัฐฯแล้วอยู่จุดนี้คุมได้ทั้งตะวันออกกลางและอาฟริกา
วันที่ ๘ ส.ค.๒๕๖๖ สำนักข่าวเอเอฟพีและทาสนิมนิวส์รายงานว่า บุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ มากกว่า ๓ กองพัน บนเรือพิฆาต ๒ ลำ เดินทางถึงทะเลแดงแล้ว ส่วนหนึ่งเพื่อการยกระดับตอบสนองของวอชิงตัน ต่อเหตุการณ์อิหรานทำการยึดเรือบรรทุกน้ำมันไปแล้วหลายลำ จากการเปิดเผยของกองทัพเรือสหรัฐฯเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นการเสริมกำลังทหารเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของกองทัพอเมริกา ในน่านน้ำอ่าวที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้าน้ำมันโลก ซึ่งมันกระตุ้นให้เตหะรานออกมาโวยวายในวันจันทร์ (7 ส.ค.) กล่าวหาวอชิงตันว่ากำลังโหมกระพือภาวะไร้เสถียรภาพในภูมิภาค
ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกองทัพสหรัฐฯ อ้างว่าอิหร่าน ทั้งยึดหรือพยายามเข้าควบคุมเรือประดับธงชาติไปแล้วเกือบ ๒๐ ครั้ง ในภูมิภาคแถบนี้ ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา
กองเรือที่ ๕ แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงว่า ทหารเรือ และนาวิกโยธินสหรัฐฯ เข้าสู่ทะเลแดงแล้วในวันอาทิตย์ที่๖ ส.ค.ที่ผ่านมา หลังล่องผ่านคล่องสุเอซ ในการประจำการก่อนที่จะมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ
บุคลากรทางทหารมากกว่า ๓,๐๐๐ นาย ที่เดินทางถึงทะเลแดง ด้วยเรือรบยูเอสเอส บาทาน และยูเอสเอส คาร์เตอร์ ฮอลล์ ถ้อยแถลงของกองเรือที่มีฐานบัญชาการในบาห์เรน ระบุเพิ่มเติมว่าจะช่วยยกระดับความยืดหยุ่นและศักยภาพทางทะเลแก่กองทัพเรือที่ ๕ ของสหรัฐฯ
นาวาตรีทิม ฮอว์กินส์ โฆษกของกองเรือที่ ๕ แห่งสหรัฐฯ(Lieutenant Commander TIMOTHEY C. HODGIN)ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า การประจำการครั้งนี้เป็นการยกระดับความพยายามป้องปรามกิจกรรมที่บ่อนทำลายเสถียรภาพและลดสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาค ที่มีต้นตอจากพฤติกรรมของอิหร่าน ที่ตามราวีและยึดเรือสินค้าไม่หยุดหย่อน
ยูเอสเอส บาทาน เป็นเรือยกพลขึ้นบกจู่โจม ซึ่งสามารถบรรทุกอากาศยานแบบปีกตรึงและปีกหมุน เช่นเดียวกับยานยกพลขึ้นบก ส่วนยูเอสเอส คาร์เตอร์ ฮอลล์ เป็นเรือเทียบท่า ลำเลียงนาวิกโยธินและเครื่องไม้เครื่องมือของพวกเขาขึ้นฝั่ง
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน แถลงข่าวในวันจันทร์ที่ ๗ ส.ค.ที่ผ่านมา กล่าวว่า “การประจำการทหารของสหรัฐฯ ครั้งนี้มีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือรับใช้ผลประโยชน์ของอเมริกานั่นเอง”
โฆษกฯกล่าวว่า”การปรากฏตัวของทหารแห่งรัฐบาลสหรัฐฯในภูมิภาคไม่เคยสร้างความมั่นคง และผลประโยชน์ให้ภูมิภาคแห่งนี้ แต่มักกระตุ้นให้พวกเขาโหมกระพือภาวะไร้เสถียรภาพและไร้ความมั่นคง” “เรามั่นใจเป็นอย่างมากว่า ประเทศต่างๆ ในอ่าวเปอร์เซียล้วนมีศักยภาพรับประกันความมั่นคงของตนเองได้”
ส่วนทางโฆษกของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน ประกาศกร้าวว่าความเข้มแข็งและแสนยานุภาพของอิหร่านอยู่ในจุดที่สามารถเอาคืนพฤติกรรมเลวทรามใดๆ ของสหรัฐฯทุกรูปแบบ
การประจำการกำลังพลล่าสุดของสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากวอชิงตันบอกว่ากองกำลังของพวกเขาสกัดความพยายาม ๒ ครั้งของอิหร่าน ในการยึดเรือสินค้าในน่านน้ำสากลนอกชายฝั่งโอมาน เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคมที่ผ่านมา
ก่อนหน้านั้นในเดือนเมษายน และต้นเดือนพฤษภาคม อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมัน ของสหรัฐฯปักธงประเทศอื่น ๒ ลำในเวลาห่างกันไม่ถึงสัปดาห์ ในน่านน้ำของภูมิภาค แม้สหรัฐฯจะเรียกร้องให้ปล่อยแต่อิหร่านยืนยันว่าเป็นน้ำมันที่ขโมยมาและไม่ยอมปล่อย
สหรัฐฯ แถลงเมื่อเดือนที่แล้วว่าพวกเขาจะส่งเรือพิฆาตลำหนึ่ง ฝูงบินรบ F-35 และ F-16 พร้อมกับกำลังพลของหน่วยพร้อมรบยกพลขึ้นบก/หน่วยนาวิกโยธินโพ้นทะเล เข้าประจำการในตะวันอกกลาง เพื่อป้องปรามอิหร่านจากการยึดเรือในอ่าว แต่ไม่กล้าบอกว่าเป็นเรือบรรทุกน้ำมันของเมกาและพวกแต่ติดธงประเทศอื่น
ความเคลื่อนไหวยกระดับประจำการทางทหารตอบโต้ของวอชิงตัน มีขึ้นในช่วงเวลาที่ภูมิภาคแถบนี้มีการประสานงานเจรจากันอย่างแนบแน่นกับจีน ซึ่งเป็นคนกลางผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่าง ๒ คู่อริในอ่าวเปอร์เซียอย่าง ซาอุดี อาระเบียกับอิหร่านได้อย่างน่าตกตะลึก เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเตหะรานกับรัฐอ่าวอาหรับอื่นๆ ก็อบอุ่นขึ้นเช่นกัน โดยที่ประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และรัฐมนตรีต่างประเทศคูเวต ต่างได้รับคำเชิญเยือนอิหร่านในสัปดาห์ที่แล้วและจบลงอย่างชื่นมื่นด้วยข้อตกลงทางการค้าการลงทุนที่น่ายินดีทั้งสองฝ่าย