ประธานเสธ.ทหาร-รมว.กห.สหรัฐแถลงF-16 ของแพงส่งยูเครนก็สู้ของรัสเซียไม่ได้ ให้ยูเครนประคองศึกไว้จะได้เปรียบเอง

0

จากที่ยูเครนเรียกร้องขอให้ชาติตะวันตกส่งยุทโธปกรณ์มาเพิ่ม โดยเฉพาะเครื่องบินรบทรงอนุภาพอย่าง เอฟ-16 ของสหรัฐ แต่จนแล้วจนรอดจนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่มีการส่งมาให้แต่อย่างใด ทำให้เกิดข้อสงสัยที่แท้จริงของสาเหตุ

ทั้งนี้มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 โดยสื่อต่างประเทศรายงานถึง ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ที่ได้ออกมาอธิบาย ทำไมวอชิงตันจึงยังไม่สามารถจัดหาจัดส่งเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 ไปช่วยเหลือการรุกตอบโต้ใหญ่ของยูเครนในเวลานี้

โดยมีการหยิบยกทั้งเรื่องระยะเวลา และเงินงบประมาณงบประมาณซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการจัดหาจัดส่งอาวุธประเภทนี้ ซึ่งมีราคาลำละ 200 ล้านดอลลาร์ (ราว 6,800 ล้านบาท)

เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามระหว่างการแถลงข่าว ภายหลังการหารือผ่านออนไลน์กับพวกพันธมิตรในกลุ่มช่วยเหลือยูเครน ว่า ทำไมยูเครนจึงยังไม่ได้รับเครื่องบินขับไล่อเมริกันรุ่นนี้เสียที

มิลลย์ก็ตอบว่า จุดโฟกัสเวลานี้ควรอยู่ที่พวกปืนใหญ่ และจรวดหลายลำกล้องตลอดจนระบบป้องกันภัยทางอากาศมากกว่า ขณะที่เอฟ-16 จะเป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถจัดหาให้ได้ในระยะใกล้ๆนี้

“ลองทำแบบฝึกหัดคิดเลขเร็วๆ กันดูนะครับ เอฟ-16 จำนวน 10 ลำก็ราคา 2,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 680,000 ล้านบาท)” เขากล่าว “ฝ่ายรัสเซียมีพวกเครื่องบินทั้งรุ่นเจนเนอเรชั่นที่ 4 และที่ 5 อยู่หลายร้อยลำ ดังนั้นถ้าหากพวกเขาจะพยายามแข่งขันให้ทัดเทียมกับฝ่ายรัสเซีย ในแบบหนึ่งต่อหนึ่ง หรือกระทั่ง แบบสองต่อหนึ่ง คุณก็กำลังพูดถึงเครื่องบินจำนวนมากทีเดียว”

นายทหารประจำการอาวุโสที่สุดของสหรัฐฯรายนี้ ยังแจกแจงอีกว่า จะต้องใช้เวลา เป็นปีๆ ในการฝึกพวกนักบินยูเครนให้ทำงานด้านการบำรุงรักษา และการประคับประคองเครื่องบิน ตามที่ควรจะต้องกระทำ ตลอดจนการทำให้ได้ความสนับสนุนทางการเงินในระดับนั้นเข้ามา”

พร้อมกับกล่าวเสริมว่า “คุณกำลังพูดถึงเรื่องเงินงบประมาณอีกหลายพันล้านดอลลาร์ เพิ่มเติมจากที่ได้รับความสนับสนุนมาแล้วนะ”

อย่างไรก็ตามระหว่างการแถลงข่าวนี้ พล.อ.มิลลีย์ ยังยืนยันว่ากองทัพยูเครนไม่ได้ประสบความล้มเหลวในการรุกตอบโต้ฝ่าแนวป้องกันของฝ่ายรัสเซีย โดยเป็นไปตามที่คาดหมายมาโดยตลอดว่าการปฏิบัติการนี้จะนองเลือดและยืดเยื้อ

“พวกเขายังเพิ่งอยู่ในขั้นตอนต้นๆเท่านั้น และยังเร็วเกินไปที่จะทำการประเมินผลอย่างเฉพาะเจาะจงใดๆ ผมคิดว่ายังมีการสู้รบอีกมากมายที่จะต้องดำเนินต่อไปอีก และผมจะยังคงยืนยันสิ่งที่เราได้พูดเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว นั่นคือ นี่จะเป็นเรื่องที่ยาวนาน มันจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก”

ด้านรัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน ของสหรัฐฯ ซึ่งร่วมการแถลงข่าวด้วย แสดงความเห็นพ้องกับประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของเขา

โดยกล่าวว่า “มันจะดำเนินต่อไปในฐานะที่เป็นการสู้รบซึ่งดุเดือดหนักหน่วง อันเป็นสิ่งที่เราคาดหมายไว้แล้ว และผมเชื่อว่าฝ่ายที่ทำได้ดีที่สุดในแง่ของการประคับประคองตัวเอาไว้ได้ บางทีน่าจะเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบเมื่อถึงตอนท้ายที่สุ”