สหรัฐฯ ประกาศส่ง ‘คลัสเตอร์บอมบ์’ ช่วยยูเครนพร้อมแพกเกจอาวุธ ๘๐๐ ล้านดอลลาร์โดยไม่สนคำคัดค้านของพันธมิตรนาโต้อย่างอื้ออึงเรื่องส่งคลัสเตอร์บอมบ์ให้ยูเครน แม้แต่เลขาธิการสหประชาชาติก็ไม่อาจเฉยออกมาประณามและคัดค้าน ยืนยันว่าผิดอนุสัญญาที่ลงนามกันกว่า ๑๑๐ ประเทศเพราะเป็นอันตรายต่อพลเรือนและเด็กทั้งในเฉพาะหน้าและระยะยาว ที่สำคัญคลัสเตอร์บอมชุดนี้เก็บไว้นาน เวลายูเครนเอาไปใช้กับรัสเซียอาจไม่ระเบิดทันทีแต่อาจตกค้างเป็นอันตรายต่อประชาชนและเด็กๆในภายหลัง
การตัดสินใจครั้งนี้ของไบเดนได้สร้างความร้าวฉานในหมู่พันธมิตรนาโต้ ก่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักเข้าไปอีก นอกจากล้มเหลวในการคว่ำบาตรที่เสียงไม่เป็นเอกภาพ และถึงแม้จะลงมติออกมาแล้วในความเป็นจริงก็มีสมาชิกนาโต้หลายประเทศยังคงซื้อพลังงานจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง
และล่าสุดฝรั่งเศสก็ออกมาค้านการขยายนาโต้ไปเอเชีย โดยเมกาจะไปเปิดสำนักงานที่ญี่ปุ่น ยิ่งใกล้วันประชุมนาโต้กลางเดือนนี้ เหล่าประเทศสมาชิกและลูกพี่ใหญ่เมการล้วนหัวปั่นชุลมุน ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตประท้วงสารพัดปัญหาลุกลามในประเทศหลักของนาโต้และสหภาพยุโรป มิหนำซ้ำยังแพ้รัสเซียในสงครามตัวแทนยูเครนทั้งๆที่รุมกินโต๊ะกัน ๓๐ กว่าประเทศต่อ ๑ เดียวรัสเซีย
วันที่ ๑๐ ก.ค.๒๕๖๖ สำนักข่าวรัสเซียทูเดย์รายงานว่า ราล์ฟ สเตงเกอร์ (Ralf Stenger) ส.ส.ชาวเยอรมัน เป็นสมาชิกพรรค SPD ของนายกรัฐมนตรี Olaf Scholz กล่าวว่า “การใช้ ‘กลุ่มอาวุธยุทโธปกรณ์’ เป็นสิ่งผิดกฎหมายในระดับสากล”พร้อมเสริมว่าผู้ที่“กระทำในนามของระเบียบและค่านิยมระหว่างประเทศจะต้องไม่จัดหาอาวุธดังกล่าว ไม่เว้นแม้แต่ในยูเครน” ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีแฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ แห่งเยอรมนี กล่าวให้สัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์ว่า“เป็นเรื่องถูกต้องที่รัฐบาลกลางในเยอรมนีห้ามใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ดังกล่าว และเยอรมนีต่อต้านการจัดหาอาวุธดังกล่าวให้ยูเครน”
นอกจากเยอรมนี กรณีนี้แคนาดา ออสเตรีย สเปน และสหราชอาณาจักร ก็ออกมาคัดค้านเช่นกัน
แคนาดาและสหราชอาณาจักรกลายเป็นชาติตะวันตกล่าสุดที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการตัดสินใจของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ในการจัดหาคลัสเตอร์บอมบ์ให้แก่ยูเครน ทั้งสองประเทศยืนยันความมุ่งมั่นต่อข้อตกลงของสหประชาชาติที่ห้ามใช้อาวุธยุทโธปกรณ์และพูดคัดค้านการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ในความขัดแย้งปัจจุบันกับรัสเซีย
รัฐบาลแคนาดาแถลงกับสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ CTV เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ระบุว่า “ออตตาวาไม่สนับสนุนการใช้คลัสเตอร์บอมบ์ และมุ่งมั่นที่จะยุติผลกระทบจากกลุ่มอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีต่อพลเรือน โดยเฉพาะเด็ก”
นายกรัฐมนตรีอังกฤษริชชี่ ซูแนค (Rishi Sunak) กล่าวกับนักข่าวว่าลอนดอนไม่สนับสนุนการใช้คลัสเตอร์บอมบ์ “สหราชอาณาจักรเป็นผู้ลงนามในอนุสัญญาที่ห้ามการผลิตหรือการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์และกีดกันการใช้งาน”เขากล่าวเสริมว่าลอนดอนจะยังคงสนับสนุนยูเครนต่อไปด้วยวิธีการอื่น
แคนาดากล่าวว่า “ขอปฏิบัติตามอย่างเต็มที่กับอนุสัญญาสหประชาชาติที่ห้ามอาวุธซึ่งได้รับการรับรองในปี ๒๕๕๑”
ด้านฝรั่งเศสออกมาแสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการเปิดสำนักงานประสานงานของนาโต้ในญี่ปุ่น แต่ยังคงหนุนอาวุธให้ยูเครนโดยไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับคลัสเตอร์บอมบ์ ตามรายงานของโพลิติโก เว็บไซต์ข่าวการเมืองสหรัฐฯฝรั่งเศสชี้ว่าทางพันธมิตรทหารนาโต้ไม่ควรขยายขอบเขตออกมาไกลเกินกว่าแอตแลนติกเหนือ อ้างอิงคำบอกเล่าเจ้าหน้าที่รายหนึ่งของทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส
“นาโต้หมายถึงองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ” เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวบอกกับสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ที่ ๗ ก.ค.ที่ผ่านมา ตามรายงานของสื่อโพลิติโกของสหรัฐฯ พร้อมส่งเสียงเตือนคัดค้านการทำให้เส้นกั้นดังกล่าวจางลง และเน้นย้ำว่าแม้กระทั่งมาตรการ ๕ ในสนธิสัญญาของกลุ่ม ก็อ้างอิงอย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของพื้นที่แอตแลนติกเหนือ
ในเดือนพฤษภาคม โคจิ โทมิตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหรัฐฯ เปิดเผยว่าญี่ปุ่นกำลังดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดสำนักงานประสานงานของนาโตในกรุงโตเกียว ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์ประสานงานแห่งแรกของพันธมิตรทหารแห่งนี้ในเอเชีย โครงการนี้มีการหารือเป็นระยะๆ มาตั้งแต่ปี ๒๐๐๗ ครั้งที่ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นเดินทางเยือนสำนักงานใหญ่ของนาโต้ และเรื่องดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอีกครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสระบุว่า “เราไม่เห็นด้วย เนื่องจากมันเป็นประเด็นของหลักการ” “ในเรื่องเกี่ยวกับสำนักงานประสานงานที่ว่านี้ ทางพวกเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเองก็ได้บอกเราด้วยตัวเองว่า ไม่ได้ยึดติดอะไรเกี่ยวกับมันมากนัก”
อ้างอิงจากรายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส ระบุว่า ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เชื่อเป็นการส่วนตัวว่ากฎบัตรของนาโต้ได้กำหนดข้อจำกัดต่างๆ ด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งห้ามนาโต้จากการขยายขอบเขตไปยังเอเชีย
จีนคัดค้านการขยายขอบเขตของนาโต้ เตือนว่าทางกลุ่มควรจำกัดวงอยู่ในขอบเขตอิทธิพลของตนเอง และไม่ควรหาทางยกระดับการปรากฏตัวในเอเชีย โดยระบุว่าภูมิภาคแถบนี้ “ไม่ต้อนรับกลุ่มแห่งการเผชิญหน้าหรือกลุ่มพันธมิตรทหารใดๆ”
ด้านรัสเซียซึ่งคัดค้านอย่างแข็งกร้าวต่อการขยายขอบเขตในยุโรปตะวันออกของนาโต้ ก็วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรทหารแห่งนี้ที่พยายามยกระดับความเคลื่อนไหวต่างๆ ในเอเชีย โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูติน บอกว่าความพยายามผลักดันก่อตั้ง”นาโต้โลก” ของสหรัฐฯและพันธมิตร ย้อนให้นึกถึงการกระทำของนิโอฯเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะปะทุขึ้น