จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์เลือกนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ ได้มีการเตรียมพร้อมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยได้กำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ 13 ก.ค. เวลา 09.30 น.นั้น
ทั้งนี้เมื่อวันที่05 กรกฏาคม 2566 พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงการเลือกนายกด้วยว่า “ยังเชื่อตามนี้อยู่นะครับ
ถ้าฝืนเสียงประชาชนคุณภาพ (ยืมคำพูดสมัยก่อนหน่อย ลองย้อนศรดู จะได้หมดข้ออ้าง) คือคนกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงทั้งหมด รวมเมืองใหญ่สำคัญแบบเชียงใหม่ ภูเก็ต จังหวัดเขตอุตสาหกรรมแบบระยอง
ไม่ต้องทำอะไรมาก ผู้ปกครองที่คนไม่ยอมให้ปกครองก็อยู่ยาก อาจเริ่มจากไม่มีใจทำงานให้ เฉื่อยงานไปจนถึงอาจนัดหยุดงานทั่วไปแบบในยุโรป รอบละ สองสัปดาห์บ้าง ๑ เดือนบ้างสลับกันไป เกิดอะไรขึ้น ขนส่งสาธารณะและเอกชนหยุดหมด ร้านค้าปิดตัวพร้อมกัน ยอมเสียรายได้วันนี้เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนี่จะหนักมากเพราะการจองต้องทำล่วงหน้า มีปัญหาหากว่าจะฟื้นตัวอย่างน้อย ๖ เดือน มีติดต่อกัน ๒ ถึง ๓ รอบปิดงานยาวไป
ม็อบอาจมีบ้างแต่ไม่ใช่สาระเพราะอาจถูกนำไปผิดทางหรือถูกซื้อได้ง่าย ๆ เจอการต่อสู้แบบสันติวิธีน่ากลัวกว่ามาก หาแกนนำที่ไหนก็ไม่เจอเพราะอยู่ในโรงงาน ห้างร้าน บริษัทและเอกชนอื่น ๆ ไม่ใช่บนถนน เจ้าของบริษัทเอกชนนั่นเองจะออกปากให้รัฐบาลที่ประชาชนไม่สนับสนุนลาออก
จะใช้โฆษณาชวนเชื่อมากล่าวหาว่าคนไทยไม่รักชาติเท่าไรคนก็ไม่ฟัง พิธา เป็นเด็กเมื่อวานซืนไม่ใช่หรือ จะกลัวอะไร แต่ถ้าดูถูกประชาชน แล้วเกิดประชาชนฮึดสู้แบบสันติขึ้นมา อุตสาหกรรมทั้งหลายหยุดชะงักหมด รัฐบาลที่คนสาปแช่งนั้นเองจะอยู่ยาก
มาลองดูกันว่าระบบราชการหรือผู้มีอำนาจอย่าง ส.ว.และข้างหลังคือ คสช. จะทนทานได้สักเท่าไร ประชาชนต่างหากเป็นผู้ทรงอำนาจแท้จริง แล้วอย่าไปมองหาแกนนำแบบสมัยสงครามสี นี่เป็นชนชั้นกลางคล้ายม็อบมือถือสมัย ๓๕ แต่ไปไกลกว่า มากกว่าและลึกซึ้งกว่ามาก ครับ”
ต่อมาเมื่อข้อความดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ปรากฏว่ามีคนเข้ามร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีบางส่วนที่ตั้งข้อสงสัย ทำให้ พล.ท.พงศกร ต้องเข้ามาตอบคอมเมนต์ด้วยตัวเอง เช่น
“งงครับ ทำไมต้องเป็นก้าวไกลเท่านั้น เสียงของพรรคอื่นไม่มีคุณภาพหรือมีความหมายอะไรเลยหรือครับ พรรคอันดับหนึ่งตั้งไม่ได้ พรรคอื่นๆเขาก็มีสิทธิรวมตัวจัดตั้งได้ไม่ใช่หรือครับ?”
พงศกร รอดชมภู “สิ่งที่พูดถึงคือการไม่เคารพกติกาหรือเสียงประชาชน สิ่งที่จะมาทำลายเสียงของประชาชนคืออำนาจ คสช. ที่มากับ ส.ว. ที่จะดันพันธมิตรของตน
ผมไม่ขัดข้องที่พรรคใด ๆ รวมเสียงมาแข่งขัน ในเวลานี้คือ ภูมิใจไทย หรือ ถอยให้พี่ป้อม พปชร หรือจะรวมกับพรรค รทสช ก็ได้ แต่ควรรวมเฉพาะ ส.ส. ที่มาจากประชาชนให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร จึงจะเรียกได้ว่าเคารพประชาชน
ถ้ายังขืนจะดึงดันก็ชอบที่ประชาชนซึ่งในที่นี้ไม่ก้าวล่วงพรรคอื่นในฝั่ง ๘ พรรคเพราะเสียมารยาท จึงนำเสนอให้ระบบราชการผูกขาด และ ส.ว. ได้คิดกันว่า หากไม่เคารพเสียงฝั่งสภาผู้แทนฯ ถึงได้อำนาจมาปกครองก็ไม่น่าจะราบรื่นครับ”
“ทำไมคนจังหวัดเล็กๆถึงเป็นคนไม่มีคุณภาพ ในเมื่อสนับสนุนคนเท่ากัน การออกมาใช้วิธีอหิงสาอาจใช้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ อย่าลืมสภาพเศรษฐกิจส่วนบุคคลมันไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่ทำงานหาเลี้ยงชีพ”