ก้าวไกลอ่อนหัด? ยื่นเงื่อนไขหวังมัด”พท.”หนุนกม.นิรโทษฯคดี 112 แลกวันนอร์ปธ.สภา ย้อนนิรโทษฯสุดซอยบทเรียนราคาแพง

0

ก้าวไกลอ่อนหัด? ยื่นเงื่อนไขหวังมัด”พท.”หนุนกม.นิรโทษฯคดี 112 แลกวันนอร์ปธ.สภา ย้อนนิรโทษฯสุดซอยบทเรียนราคาแพง

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (3 กรกฎาคม 2566) พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ตั้งโต๊ะแถลงร่วม พร้อมใจส่ง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นประธานสภาฯ ยืนยันไม่มีฟรีโหวต และไม่มีชิงตำแหน่งแน่นอน เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย ส่ง “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาฯ ให้ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานคนที่ 1 และ ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานคนที่ 2 โดยจะมีการเปิดเผยรายชื่อในวันพรุ่งนี้

ในช่วงหนึ่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวด้วยว่า “เพื่อความเป็นเอกภาพ เราต้องประนีประนอมและเสียสละ เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่สำคัญกว่า คือการเสนอชื่อผมเป็นนายกรัฐมนตรี”

ต่อมาทางด้านของ โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้แชร์เอกสารแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย โดยบอกว่า พรรคก้าวไกลยื่นเงื่อนไขผูกมัดให้เพื่อไทยเห็นชอบร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง (ซึ่งในจำนวนนี้มีคดี 112 เพียบ และหลายคนคือส.ส.ของก้าวไกลเอง) แลกกับการยอมให้ท่านวันนอร์เป็นประธานสภา

หากย้อนไปเมื่อปี 2556 รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามชูร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ “เหมาเข่ง” พ.ร.บ.ดังกล่าว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน”

เป็นจุดพลิกผันสู่การประกาศยุบสภาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 อันเนื่องมาจากกระแสต่อต้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่เสนอโดย “นายวรชัย เหมะ” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ เนื่องมาจากร่าง พ.ร.บ. ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 นั้น เป็นร่างที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากได้แก้ไขเนื้อหาจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมของนายวรชัย เหมะ ที่มีวัตถุประสงค์ต้องการนิรโทษกรรมผู้ต้องขังจากคดีเผาศาลากลางจังหวัดจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2553

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกอบด้วย 7 มาตรา คณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาลได้แก้ไขมาตรา 3 และมาตรา 4 ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้มีผลนิรโทษกรรมครอบคลุมหลายฝ่าย ทั้ง “ฝ่ายพันธมิตรฯ และฝ่าย นปช.” ที่สำคัญยังรวมถึง “นายทักษิณ ชินวัตร” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ”

ซึ่งกรณีหลังนี้ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 พรรคฝ่ายค้าน องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ รวมทั้งแกนนำ นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเท่ากับเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่คดีอาญา “ฆ่า-เผา” และ “ผู้ทุจริตคอร์รัปชัน” รวมไปถึงการพานายทักษิณ กลับเข้ามาในเมืองไทย