คุยชื่นมื่นจีน-อินเดียร่วม! ดอนเผยผลถกปัญหา “เมียนมา” ลั่น ทำเพื่อชาติเมินรอรบ.ใหม่ คนไทยต้องรู้ถึงผลกระทบ ไม่ใช่เดินตามข่าวที่มาจากอคติ
จากกรณีที่วันนี้ (20 มิถุนายน 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงการหารือกับผู้แทนรัฐมนตรี และผู้แทนระดับสูงประเทศอาเซียน เพื่อหาทางออกปัญหาสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า
บรรยากาศประชุมเป็นไปด้วยดีและผู้เข้าร่วมอยากให้ฝ่ายไทยจัดขึ้นอีก โดยผู้เข้าร่วม 9 ประเทศ ในจำนวนนี้มีประเทศจีน และอินเดีย ที่เข้าร่วม เนื่องจากมีชายแดนที่ติดกับเมียนมาและได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ ในการประชุมอาเซียนเมื่อปี 2565 ที่กัมพูชา เป็นเจ้าภาพ เคยออกแถลงการณ์ อยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางทำให้การแก้ปัญหาเมียนมาลุล่วงให้ได้ในโอกาสต่างๆและรูปแบบต่าง และหาวิธีการทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ
ซึ่งวิธีการหารือไม่เป็นทางการเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ปัญหาลุล่วง และไทยจัดมาแล้ว 2 ครั้ง ถือว่าได้ประโยชน์ ถ้าไม่ได้ประโยชน์ผู้ที่เคยมาร่วมพูดคุยคงไม่มาอีก ส่วนการหารือครั้งล่าสุด ยังได้พูดในเรื่องที่ไม่เคยพูดกันมาก่อน และมีผู้เข้าร่วมมากกว่าก่อนหน้านี้
นายดอน กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ เราทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย แต่ทุกคนมองข้ามแล้วมองว่าต้องทำตามแนวทางของอาเซียนอย่างเดียว ซึ่งแนวทางอาเซียน ประเทศไทยและประเทศสมาชิกต้องทำตามอยู่แล้ว และที่รีบหารือเพราะประเทศไทยมีชายแดนติดกับเมียนมา กว่า 2,000 กิโลเมตร ขณะที่ประเทศอาเซียนอื่น ไม่ได้มีชายแดนที่ติดยาวแบบไทยจึงไม่ได้รับความเดือดร้อน ไม่รู้สึกว่าต้องรีบหาทางออกเรื่องเมียนมา ที่เป็นปัญหายืดเยื้อ
แต่เรื่องนี้ส่งผลถึงประเทศไทย คนไทย การค้าชายแดน นักธุรกิจ และปัญหากลุ่มสแกมเมอร์ ในเมียนมา ที่หลอกลวงคนจากหลายประเทศและคนไทย ข้ามไปทำงานผิดกฎหมาย รวมถึงปัญหาค้ายาเสพติด ของผิดกฎหมาย จึงอยากให้ทุกคนมองประเด็นเหล่านี้ด้วยว่า ฝ่ายไทยพยายามหาทุกวิถีทาง ดำเนินการโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่าผลการหารือในเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง นายดอน กล่าวว่า ได้มีการตกลงกันว่าจะไม่เปิดเผยเนื้อหาสาระต่อสาธารณชน แต่ขอให้รับรู้ว่าเป็นประโยชน์และอยากให้เราจัดอีก ขณะที่เมียนมา พยายามดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อให้การแก้ปัญหาคืบหน้า โดยประกาศแล้วว่าจะจัดการเลือกตั้ง ก่อนที่อาเซียนจะออกมาเรียกร้อง
เมื่อถามว่าจะต้องส่งเรื่องนี้ไปให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการต่อหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า เรื่องนี้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย อะไรที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศและคนไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดำเนินการ ส่วนใครที่เห็นและรับรู้เรื่องนี้ ควรรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อ การส่งมอบงาน เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการเป็นเรื่องปกติ ขณะที่บุคคลทั่วไปควรรับรู้ว่าปัญหาเมียนมาส่งผลกระทบกับไทยอย่างไร ไม่ใช่เดินตามข่าวสารที่มาจากการเล่าข่าวด้วยอคติ
เมื่อถามย้ำถึงเสียงวิจารณ์ ควรรอให้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาจัดการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาร์ นายดอน กล่าวย้อนว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับไทย จะรอได้หรือ ถ้ามีโอกาสทำได้ทุกคนต้องช่วยกันดูแลให้เร็วที่สุด และการหารือยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง แม้จะเหนื่อยแต่เราต้องดูแลผลประโยชน์ประเทศ และในการหารือไม่ได้มีการลงนามในเรื่องใดๆ เพียงแต่พูดคุยให้รับรู้พัฒนาการต่างๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่าในโอกาสที่พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาได้พูดคุยถึงปัญหาสู้รบบริเวณชายแดนด้วยหรือไม่ เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้อพยพชาวเมียนมาทะลักเข้าประเทศไทย นายดอน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในเมียนมาที่กระทบกับไทย เกิดมานาน 30-40 ปี แล้ว และเราไม่อยากให้เกิดสู้รบ เพราะจะส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยด้วย แต่เมื่อมีคนอพยพเข้ามา เราช่วยดูแลรักษาพยาบาล ก่อนส่งกลับประเทศ