จากที่มีรายงานถึงความพยายามเยือนจีนหลายครั้งของสหรัฐ รวมทั้งชาติตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอเข้าพบประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งท่ามกลางความขัดแย้งกับไต้หวัน ที่อเมริกาเข้าเกี่ยวข้องสร้างความไม่สบายใจกับฝ่ายปักกิ่งนั้น
ทั้งนี้ ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ นักวิชาการทางบูรพคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาพูดถึงกรณีดังกล่าวผ่านการโพสต์ลง Blockdit เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ว่า
“หลังจากออกอาการจะลงแดงให้ได้ที่ขอพบฝ่ายจีนแล้วฝ่ายจีนไม่ยอมพูดด้วย รัฐบาลอเมริกาก็บ่นเป็นหมีกินผึ้ง เรียกร้องจะขอพบให้ได้เหมือนจะพากันลงแดงอย่างหนัก จนกระทั่งท่านขุนแอนโทนี บลิงเคน รมว.กระทรวงต่างประเทศของอเมริกา ขอเดินทางมาพบจีนเองโดยไม่ต้องได้รับเชิญในวันที่ ๑๘ มิถุนายน
พอเจอหน้ากับฝ่ายจีน ผู้แทนอเมริกาก็ข่มขู่จีนเหมือนเดิม สาระสำคัญที่เดินทางมาพบผู้แทนจีนของนายบลิงเคน มีสาระอยู่เรื่องเดียวคือต้องการจะบอกจีนว่า อเมริกาจะปกป้องผลประโยชน์ และค่านิยมของประชาชนอเมริกัน
หมายความว่าถ้าจีนบุกไต้หวันซึ่งอเมริกา กำลังค้าขายอาวุธอยู่ด้วย อเมริกาก็จะกระโดดเข้าช่วยไต้หวันสู้รบกับจีนเพราะถ้าไม่มีไต้หวัน อเมริกาก็จะขาดลูกค้า นี่คือประเด็นที่นายบลิงเคนต้องการเดินทางมาจีนเพื่อจะบอก
หลังจากมาเยือนจีนแล้ว พอนายบลิงเคนกลับออกไปจากจีนถึงสหรัฐเมริกาบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว หมอนี่ก็จะวิจารณ์จีนเสียๆ หายๆ เพื่อให้จีนดูแย่ สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นเหมือนเดิม ด้วยเหตุนี้ การพูดคุยเจรจาอะไรกันกับรัฐบาลอเมริกาจึงดูไม่มีประโยชน์อะไรเลย”
ล่าสุดวันนี้ 20 มิถุนายน 2566 ดร.ปฐมพงษ์ โพสต์ถึงการเยือนประเทศจีนของทีมงานรัฐมนตรีสหรัฐอีกครั้งว่า “ท่านทั้งหลายสงสัยมั้ยครับว่าทำไม *กระทรวงกลาโหม* ของอเมริกา จึงถูกผมเรียกว่า *กระทรวงหาทางรุกรานประเทศอื่น* ส่วน *กระทรวงการต่างประเทศ* ของอเมริกา จึงถูกผมเรียกว่า *กระทรวงสร้างภาพในต่างประเทศ*?
คำตอบคือเพราะสองกระทรวงนี้แสดงพฤติกรรมขัดแย้งกันตลอดเวลา กระทรวงกลาโหมส่งทหารไปตั้งค่ายอยู่ในหลายๆ ประเทศเพื่อรุกรานประเทศอื่น ไม่ยอมให้ประเทศอื่นมีเอกราช ถ้ารวมทั้งฐานทัพลับด้วยแล้ว อเมริกามีฐานทัพไม่น้อยกว่า ๘๐๐ แห่งทั่วโลก
ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ มักออกมาให้สัมภาษณ์สร้างภาพว่ารัฐบาลตนเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ สมภาพและภราดรภาพ เป็นแบบอยางประชาธิปไตยให้ชาติอื่น ซึ่งล้วนโกหกพกลมทั้งสิ้น
พบกันครั้งล่าสุดนี้ สีจิ้นผิงบอกแก่นายแอนโทนี บลิงเคนว่า ‘อนาคตและชะตากรรมของมนุษย์บนโลกใบนี้ขึ้นอยู่กับว่าจีนและอเมริกาจะอยู่ร่วมกันได้เหมาะสมได้หรือไม่?’
นายแอนโทนี บลิงเคนตอบว่า ‘รัฐบาลอเมริกาไม่ได้สนับสนุนให้ไต้หวันมีเอกราช และไม่ได้ตั้งใจสร้างความขัดแย้งกับรัฐบาลจีนเลย!’
คอยดูอีกสักพักหลังจากนายบลิงเคนกลับบ้านไป กระทรวงกลาโหมของอเมริกาก็จะเคลื่อนไหวทางทหารมากดดันจีนที่ไต้หวันเพื่อให้สองประเทศขัดแย้งกันอีกครั้ง กระทรวงหนึ่งหาเรื่องรุกรานประเทศอื่นตลอดเวลา ส่วนอีกกระทรวงก็ขยันสร้างภาพตลอดเวลาเช่นเดียวกัน”