พจนา ‘ทิศทางไทย’ ตอนที่ ๓ การเคลื่อนย้ายอำนาจไปสู่อัลกอริทึมกับผลกระทบอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

0

พจนา ‘ทิศทางไทย’ ตอนที่ ๓ การเคลื่อนย้ายอำนาจไปสู่อัลกอริทึมกับผลกระทบอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน  โดย : ดร.สุวินัย ภรณวลัย  ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ  สถาบันทิศทางไทย

 

 

ความสามารถที่เอไอมีและเหนือกว่ามนุษย์มาก​คือ​ ความสามารถในการเชื่อมโยงกับความสามารถในการอัพเดทข้อมูลได้อย่างฉับพลันและพร้อมเพรียงกัน​ (updateability)

 

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะพวกมนุษย์มีความเป็นปัจเจกสูง​ทำให้ยากที่จะเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นกลุ่ม​ และทำให้ได้รับข้อมูลที่อัพเดทพร้อมกันยากลำบากยิ่ง

 

ตรงนี้ต่างกับคอมพิวเตอร์อย่างชัดเจน​คอมพิวเตอร์มิได้มีข้อจำกัดเรื่องความเป็นปัจเจก(มันไม่มีความเป็นปัจเจก)​และการอัพเดทข้อมูลเหมือนพวกมนุษย์​ มันจึงสามารถเชื่อมโยงพวกมันเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายที่ยืดหยุ่นได้เพียงหนึ่งเดียว

 

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้​เพราะการดิสรับชันทางเศรษฐกิจจึงไม่ใช่​การที่ผู้คนจำนวนนับล้านๆคนถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์เดี่ยวจำนวนนับล้านตัวและคอมพิวเตอร์เดี่ยว ๆจำนวนนับล้านเครื่อง

 

แต่คือการที่มนุษย์แต่ละคนจะถูกแทนที่ด้วยเครือข่ายเอไอที่ประสานเป็นหนึ่งเดียว​ซึ่งไม่ช้าก็เร็ว​ความสามารถของเครือข่ายเอไอที่บูรณาการกันจะเหนือกว่าความสามารถรวมหมู่ของมนุษย์ทั้งโลก​ (อย่างช้าที่สุดจะเกิดสิ่งนี้ในปี​ 2050)

 

การก้าวกระโดดในพัฒนาการของเอไอเกิดขึ้น​เมื่อมนุษย์สามารถคิดค้นอัลกอริทึมที่สามารถเข้าใจและควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ด้วยวิธีการในแบบของมัน

 

กล่าวคือ​เมื่อคนคิดอัลกอริทึม​มิได้มองเรื่อง​อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เป็นปรากฏการณ์ลี้ลับทางจิตอีกต่อไป​ แต่​กลับลดทอนอารมณ์ความรู้สึกให้เป็นแค่ผลลัพธ์จากกระบวนชีวเคมีในร่างกายและสมองของมนุษย์เท่านั้น​  อัลกอริทึมจึงสามารถคำนวณ​ประมวล​และคาดการณ์พฤติกรรมของคนเรา​จากการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึกของคนเราได้

 

ศาสตร์อย่างเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและประสาทวิทยาศาสตร์​(neuroscience)​ ที่รุดมากในช่วงยี่สิบกว่าปีมานี้​ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เจาะลึกเข้าไปในความเป็นมนุษย์ได้ว่า​”มนุษย์ตัดสินใจอย่างไร?”

 

ผลสรุปก็คือ​ การตัดสินใจของมนุษย์หาได้เกิดจาก​ “เจตจำนงเสรี” อันเป็นมายาคติที่พวกมนุษย์เคยหลงเชื่อกันไม่​แต่มันเป็นแค่ผลจากการคำนวณความน่าจะเป็นต่างๆของเซลล์ประสาทสมองภายในเวลาเพียงเสี้ยววินาที​ผ่านการรู้จำเรื่องรูปแบบต่างๆเท่านั้น

 

เมื่อมองการตัดสินใจของมนุษย์เป็นแบบนี้แล้ว​ ผู้คิดค้นอัลกอริทึม​จึงสามารถพัฒนาอัลกอริทึมของเอไอที่เหนือกว่ามนุษย์ได้

 

กล่าวคือ​ในสายตาของผู้คิดค้นเอไอหรืออัลกอริทึม​ การตัดสินใจของมนุษย์เป็นแค่การใช้อัลกอริทึมทางชีวเคมีของสมองมนุษย์ที่ยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบมาก​ถ้าประเมินจากมาตรฐาน​การพัฒนาอัลกอริ​ทึม​ ทั้งนี้เพราะการตัดสินใจของมนุษย์ใช้อัลกอริทึมทางชีวเคมีของสมองมนุษย์ที่พึ่งพิงประสบการณ์จากการแก้ปัญหา​และวงจรสมองที่ล้าสมัยเป็นหลักนั่นเอง

 

ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆให้เข้าใจ​ก็คือ​หากการตัดสินใจของมนุษย์​เปรียบเสมือนนกที่บินได้

 

การตัดสินใจของเอไอในอนาคตอันใกล้​จะเปรียบเหมือนเครื่องบินที่บินได้​โดยไม่ต้องพึ่งปีกขนเหมือนอย่างนก​ เพราะใช้อัลกอริทึมในการบิน(การตัดสินใจ)​ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

ความสามารถในการตัดสินใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากจนถึงมากที่สุดสำหรับชีวิต​ทั้งชีวิตของปัจเจกและชีวิตรวมหมู่ของสังคมหรือของชาวโลก

 

จะเห็นได้ว่านับวันอัลกอริทึมหรือเอไอจะเข้ามาช่วยตัดสินใจแทนมนุษย์มากขึ้นทุกที​ จนกระทั่งในที่สุดเมื่อถึงวันหนึ่งในอนาคตที่ไม่เกินสามสิบปีหลังจากนี้​ อัลกอริทึมจะเข้าตัดสินใจแทนให้พวกมนุษย์ทั้งหมด​ โดยเฉพาะพวกผู้นำทั้งหลายจะต้องพึ่งพาอัลกอริทึมในการตัดสินใจทุกเรื่อง​โดยทำได้อย่างมากแค่เลือกทางเลือกต่างๆที่อัลกอริทึมคัดสรรมาให้เท่านั้น

 

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในระดับโลกในช่วงสามสิบปีหลังจากนี้​คือกระบวนการถ่ายอำนาจ (power shift)​ จากมนุษย์ไปสู่อัลกอริทึมโดยสมบูรณ์​ … นี่เป็นทิศทางโลกที่ไม่อาจต้านทานได้

 

การล่มสลายของเรื่องเล่าเสรีนิยมย่อมเกิดขึ้นตามมา​ เพราะ​ความเชื่อหรือความศรัทธาในสิ่งที่หัวใจบอกอันเป็นคุณค่าหลักของเสรีนิยม​ มันเริ่มใช้การไม่ได้อีกต่อไป​เมื่ออัลกอริทึมสามารถเข้าไปเจาะใจและควบคุมหัวใจของผู้คนทั้งหลายได้ผ่านอัลกอริทึมบิ๊กเดต้า

 

เพราะพวกคิดค้นอัลกอริทึมได้ค้นพบความจริงเรื่องจิต(อารมณ์ความรู้สึก)​ในมุมมองแบบวัตถุนิยม​ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับการค้นพบของพระพุทธองค์ในเรื่องความจริงปรมัตถ์​(อภิธรรม)​ที่เป็นมุมมองแบบจิตนิยมว่า

 

“ความรู้สึกก็เป็นการคำนวณ​แต่เป็นกระบวนการ​การคำนวณที่เกิดขึ้นเร็วมากๆจนเกินกว่าที่คนเราจะตระหนักรู้ได้”

 

สิ่งที่พวกมนุษย์จะสูญเสียไปเมื่อการถ่ายอำนาจไปสู่อัลกอริทึมดำเนินไปจนเสร็จสมบูรณ์มีดังต่อไปนี้

 

(1) สูญเสียความสามารถในการตัดสินใจด้วยตนเอง​

(เพราะทุกคนหันไปพึ่งอัลกอริทึมในการค้นหาทุกเรื่องแทน​อย่างกูเกิล)

 

(2) สูญเสียงาน​ (ถูกแทนที่ด้วยเอไอและระบบอัตโนมัติ)​

 

(3) สูญเสียคน​ (กลายเป็นสวะทางเศรษฐกิจ​หรือคนที่ไร้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ)

 

(4) สูญเสียความเป็นมนุษย์

 

ผมจะบอกอะไรให้​อันเป็นความจริงที่น่าตระหนกยิ่ง

 

ในอีกสามสิบปีข้างหน้า​ เราไม่มีทางปกป้องงาน​ ปกป้องคน​ ปกป้องความสามารถในการตัดสินใจด้วยตนเองจากอัลกอริทึมได้เลย

 

สิ่งที่คนเราสามารถปกป้องได้มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น​และสามารถทำได้ตั้งแต่บัดนี้​คือการปกป้องความเป็นมนุษย์ของคนเรา​จากกระบวนการถ่ายอำนาจไปสู่อัลกอริทึมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เท่านั้น

 

เราจะปกป้องความเป็นมนุษย์ของเราได้อย่างไรในยุคอัลกอริทึมหรือเอไอเป็นใหญ่อย่างในยุคปัจจุบันที่เพิ่งเริ่มต้น​ นี่คือโจทย์ที่สำคัญยิ่งของสถาบันทิศทางไทย