มาไม้ไหน!? มาครงขอเข้าร่วมประชุม BRICS แอฟริกาใต้อึ้งไม่ยืนยันรับขอปรึกษาทีม

0

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสแสดงความปรารถนาที่จะมาร่วมการประชุมสุดยอด BRICS ที่แอฟริกาใต้เขาจะกลายเป็นผู้นำตะวันตกคนแรกที่นั่งเข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ แต่เรื่องจะได้เข้าร่วมหรือไม่ยังไม่แน่นอนเพราะมาครงเดินนโยบายต่างประเทศแบบสองหน้ากับทั้งรัสเซีย จีนตลอดมา 

วันที่ ๑๔ มิ.ย.๒๕๖๖ สำนักข่าวรัสเซียทูเดย์และมิลิทารี่รีวิว รายงานว่า ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ได้ขออนุญาตซีริล รามาโฟซา(Cyril Ramaphosa) ปธน.แอฟริกาใต้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BRICS ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมปีนี้ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก

ตามรายงานของ L’Opinion ฉบับภาษาฝรั่งเศสที่อ้างแหล่งข่าว รามาโฟซารู้สึกประหลาดใจกับคำขอดังกล่าวจากมาครง และยังไม่ได้ให้คำตอบแก่ผู้นำฝรั่งเศส แอฟริกาใต้กำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการให้สิทธิ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวแก่ผู้นำของประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ BRICS

Macron มีความปรารถนาร่วมกันที่จะยกเครื่องระเบียบการเงินและภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก โดย Macron จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่ปารีสในสัปดาห์หน้า โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกเครื่องระบบการเงินเพื่อประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา รามาโฟซามีกำหนดจะเข้าร่วมการประชุมด้วย และการพบปะอย่างจริงใจระหว่างเขากับมาครงอาจเป็นเวทีสำหรับประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในพริทอเรีย หลังจากการเดินสายเมื่อต้นปีไม่ประสบความสำเร็จ ยังคงถูกต่อต้านจากชาวอาฟริกันหลายประเทศ ด้วยบาดแผลแห่งการครอบงำในสมัยล่าอาณานิคม

แต่ความสัมพันธ์ของมาครงกับกลุ่ม BRICS ที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็น บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน นั้นแตกร้าวอย่างที่สุด ปารีสได้ส่งสารที่หลากหลายไปยังประเทศเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น มาครงเรียกร้องให้มีการเจรจาสันติภาพในยูเครนและเสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยโดยสนับสนุนแผนสันติภาพที่ยูเครนร่างขึ้นซึ่งรัสเซียปฏิเสธอย่างเด็ดขาด ในขณะที่ยังคงส่งอาวุธหนักไปยังเคียฟ

การเดินทางครั้งล่าสุดเยือนจีน มาครงก็ยอมอ่อนให้จีนในทางการค้าแต่ทางทหารส่งกำลังรบไปร่วมเคลื่อนไหวทางทหารกับสหรัฐและแคนาดาซ้อมรบในทะเลตะวันออกย่านฟิลิปปินส์และใกล้ไต้หวัน ยังความขุ่นเคืองให้กับปักกิ่งไม่น้อยเข้าทำนองปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอเหมือนลูกพี่สหรัฐฯไม่มีผิด

ปากบอกยุโรปต้องไม่ตามก้นสหร้ฐฯแต่เขาลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับผู้นำกลุ่ม G7 คนอื่น ๆ เมื่อเดือนที่แล้ว โดยระบุว่าจีนเป็น“ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อความมั่นคงของโลกและความเจริญรุ่งเรืองในยุคของเรา”ซึ่งเป็นจุดยืนเดียวกับของสหรัฐฯ

ในขณะเดียวกันในแอฟริกา การประณามรัสเซียของมาครงได้สร้างความไม่พอใจให้กับอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสในทวีปนี้ ซึ่งมองว่ารัสเซียเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้มากกว่าอดีตเจ้านายของตน

กลุ่มเศรษฐกิจระหว่างประเทศ BRICS ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่ตั้งใจจะเข้าร่วมกับประเทศเหล่านี้ รวมถึงกลุ่มอ่าวอาหรับ อาร์เจนตินาและอิหร่าน เช่นเดียวกับ อินโดนีเซีย ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ตามการคาดการณ์กลุ่มประเทศ BRICS ในช่วงปี ๒๐๕๐ จะสามารถก่อตั้งระบบเศรษฐกิจที่โดดเด่นได้

ปัจจุบันและจนถึงสิ้นปีนี้ แอฟริกาใต้เป็นประธานของกลุ่ม หลังจากนั้นตำแหน่งประธานจะถูกโอนไปยังประเทศถัดไป

มีรายงานด้วยว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียหารือกับประธานาธิบดีแอฟริกาใต้เพื่อเตรียมการประชุมสุดยอดครั้งต่อไปในรูปแบบรัสเซีย-แอฟริกา ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เช่นเดียวกับการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ที่มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ในระหว่างการหารือ ผู้นำของประเทศต่าง ๆ ได้แสดงความพร้อมที่จะดำเนินการประสานงานต่อไปในเวทีระหว่างประเทศ

BRICS เป็นกลุ่มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งมีอยู่เป็นเขตการค้าเสรี ดังนั้นจึงไม่มีข้อผูกมัดในการเปิดตลาดเพื่อการค้าและการลงทุน ในปัจจุบันมีกรอบความร่วมมือมากมายในลักษณะนี้ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯ ได้ผลักดันให้กลุ่มเศรษฐกิจจัดตั้งพันธมิตรด้านความมั่นคงทางทหารและเทคโนโลยี เช่น QUAD (Quadrilateral Security Dialogue) และ AUKUS (ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา) เมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯ ได้ริเริ่ม IPEF (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) ในเดือนพฤษภาคม๒๕๖๕ เพื่อมุ่งเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจสกัดอิทธิพลของจีนและรัสเซีย จากการเติบโตที่รวดเร็วของกลุ่มBRICS ซึ่งอดีตสหรัฐฯมองข้ามไม่สนใจ 

สำหรับการประชุมสุดยอด BRICS ประจำปีในวันที่ ๒๓-๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ หัวข้อหลักที่มุ่งเน้นคือการผลักดันของจีนและรัสเซียให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นแทนดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการประชุมสุดยอดประจำปีดังกล่าว ที่มุ่งเน้น ในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน แนวคิดของการใช้การชำระเงินในสกุลเงินท้องถิ่นเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งนำไปสู่การคว่ำบาตรนำโดยสหรัฐและพันธมิตรเพื่อถอดรัสเซียออกจากระบบการเงิน SWIFT และยังคงยืดเยื้อเป็นเวลานาน ขณะที่หลายประเทศเริ่มหลีกหนีจากอิทธิพลดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง ประเด็นการชำระเงินจึงกลายเป็นหัวข้อสำคัญใน การประชุมสุดยอด BRICS ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ รวมถึงกำหนดพิจารณาสกุลเงินร่วมใหม่ด้วย

สถานการณ์ปัจจุบันการคว่ำบาตรอย่างหนักต่อรัสเซียจุดชนวนให้ทั่วโลกต่อต้านดอลลาร์สหรัฐมากขึ้นมีจำนวนประเทศเพิ่มขึ้นหลีกเลี่ยงเงินดอลลาร์ในการทำธุรกรรมทางการค้า

วอชิงตันใช้การครอบงำของเงินดอลลาร์เป็นเครื่องมือในการรักษาความเหนือกว่าทางเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่กำหนดข้อจำกัดทางการเงินมากมายต่อประเทศต่างๆ ซึ่งมองว่าเป็นการละเมิดผลประโยชน์ของชาติสหรัฐฯ

สถานะของเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสิ่งสำคัญของโลกถูกท้าทายในเวลาและภายใต้สถานการณ์บางอย่างโดยกลุ่มประเทศเกิดใหม่ BRICS ตามที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนรวมถึงอดีตประธานของ Goldman Sachs, Jim O’Neill วิเคราะห์ไว้ กลุ่มเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจแซงหน้า G7 ไปแล้ว การผลักดันการค้าในสกุลเงินของประเทศและความพยายามในการสร้างเครือข่ายการชำระเงินร่วมกันเพื่อลดการพึ่งพาระบบการเงินของตะวันตกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเงินดอลลาร์กำลังเดินหน้าไปอย่างที่เมกาไม่อาจขัดขวางได้