ส่องคณบดีรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี เพิ่งเปิดทาง”แอมเนสตี้” ลงนาม MOU สิทธิมนุษยชน 3 ปี-เป็น1ใน114นักวิชาการประณามรบ.สลายม็อบต้านโรงไฟฟ้า

0

ส่องคณบดีรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี เพิ่งเปิดทาง”แอมเนสตี้” ลงนาม MOU สิทธิมนุษยชน 3 ปี-เป็น1ใน114นักวิชาการประณามรบ.สลายม็อบต้านโรงไฟฟ้า

จากกรณีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 นายปฏิยุทธ ทองประจง กรรมการบริหารพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีการจัดกิจกรรมเปิดตัวขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ที่คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ซึ่งเนื้อหาบางส่วนมีการสุ่มเสี่ยง พร้อมกับจี้ไปที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ว่าปล่อยให้จัดกิจกรรมที่มีเนื้อหาการแบ่งแยกดินแดนได้อย่างไร

เรามาทำความรู้จักกับ คณบดี ท่านนี้หน่อยว่า เคยมีบทบาทอย่างไรบ้างในพื้นที่การเคลื่อนไหว หากย้อนไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ผศ.ดร.สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในสิทธิมนุษยชนร่วมกันเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2568

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ทางองค์กรมียุทธศาสตร์ในการทำงานรณรงค์เพื่อส่งเสริมสิทธิ มนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานรณรงค์เพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชน หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญขององค์กรคือขยายฐานการขับเคลื่อนรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา กลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานรณรงค์สิทธิมนุษยชนมากขึ้น

เเธอยังกล่าวด้วยว่า “จากการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ มีหลักการดำเนินงานเพื่อผลิตบัณฑิตและจัดการเรียนการสอนในสังคมพหุ วัฒนธรรมโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้สอดคล้องกับการทำงานของแอมเนสตี้ที่เคารพในสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายและการขยายการทำงานในระดับภูมิภาคมากขึ้นจึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในสิทธิมนุษยชนขึ้น ระหว่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี”

ด้าน ผศ.ดร.สุรวุฒน์ กล่าวเสริมถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำ MOU ครั้งนี้ว่า จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษา คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมืองและได้รับแรงบันดาลใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อีกทั้งเพื่อให้กลุ่มกิจกรรมแอมเนสตี้คลับ (Amnesty PSU Club) นักกิจกรรมและอาสาสมัครใน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับการส่งเสริมและมีความรู้ความสามารถ ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ และงานด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการ ขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในการทำงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 เมย. 2566 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ได้การจัดเวที สานเสวนา ขึ้น เรื่องพรรคการเมือง ในเส้นทางสันติภาพปาตานี โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมือง ที่ขึ้นเวทีพูดคุยดีเบต ด้วยกัน ได้แก่ นายอารีเพ็ญ อุตรสินทร์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ นายนัจมุดดีน อูมา ผู้สมัครปารตี้ลิสต์ พรรคภูมิใจไทย นายชารีฟฟุดดีน สารีมิง ผู้สมัครปารตี้ลิสต์ จากพรรคประชาธิปัตย์, พลโทภราดรพัฒนถาบุตร ตัวแทนพรรคเพื่อไทย นายรอมฎอน ปันจอร์ ผู้สมัครปาตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกล นายแพทย์ แวมาฮาดี แวดาโอะ ผู้สมัคร สส.เขต 1 จังหวัดนราธิวาส,พล.ต.ต.สะท้านฟ้า วามะสิงห์ ตัวแทนพรรคเสรีรวมไทย ดำเนินรายการโดยนส.ฐาปณีย เอียดไชย และ นายซาฮารี เจ้ะหลง

โดยบนเวทีพูดคุย ได้ตั้งประเด็นถึงการแก้ปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำคัญเช่น เรื่องของสันติภาพชายแดนใต้ เรื่องความมั่นคง ประเด็นเรื่องการพูดคุยสันติสุขและกฎหมายพิเศษ

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้ จำนวน 114 คน ร่วมลงชื่อใน แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้ กรณีสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุที่กระทำต่อเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยนักวิชาการกลุ่มดังกล่าวได้ประณามการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่มีความชอบธรรมและเป็นไปอย่างอำเภอใจ ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ดำเนินคดีต่อชาวบ้าน และปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข

โดยเครือข่ายนักวิชาการภาคใต้ ในจำนวน 114 คน ปรากฎชื่อของผศ.ดร.สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีด้วย