พจนา ‘ทิศทางไทย’ ตอนที่ ๑ ว่าด้วยจุดแข็งและข้อจำกัดของโมเดล ‘เสรีนิยม’
โดย : ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย
ต้องขอบคุณการก่อเกิดของสถาบันทิศทางไทยจริง ๆ ที่มอบโอกาสและบทบาทให้แก่ตัวผมที่อยู่ในวัยเกษียณแล้ว ให้กลับมามีไฟทางวิชาการอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ข้อเขียนชุด “พจนาทิศทางไทย”ชุดนี้ของผม จะเป็นการพินิจพิจารณาเกี่ยวกับ …
(1) สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกเวลานี้
(2) ความท้าทายที่ไทยกำลังเผชิญ
(3)ทางเลือกที่ไทยควรเดินไปหลังจากนี้
(4) รวมทั้งทิศทางใดที่ไทยควรไป
ทั้งตัวผมและสถาบันทิศทางไทยไม่มีเจตนาที่จะนำเสนอ “คำตอบสำเร็จรูป”หรือ”คำตอบสุดท้าย”ให้แก่คนไทย แต่พวกผมต้องการกระตุ้นการคิดที่ต่อยอดเพื่อที่ “พวกเรา”หรือคนไทยทั้งประเทศจะเดินไปข้างหน้าร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และมั่นคงมากกว่า
ความชัดเจนในการมองคือรูปแบบหนึ่งของปัญญา คือท่าทีหนึ่งของความรัก และคือการสำแดงออกของพลังอำนาจชนิดหนึ่ง … นี่คือสิ่งที่สถาบันทิศทางไทยมั่นใจว่ามีศักยภาพพอที่จะให้ “ความชัดเจนในการมอง”แก่คนไทยทั้งประเทศหลังจากนี้ได้
ความสามารถในการมองภาพใหญ่ภาพรวมอย่างเป็นองค์รวมและอย่างบูรณาการ คือจุดเด่นและเป็นจุดแข็งของสถาบันทิศทางไทยที่มุ่งมั่นเป็น “เครือข่ายคลังปัญญาของประเทศ”หลังจากนี้
เราจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี ในการกำหนด ‘ทิศทางไทย’ หลังจากนี้ ?
ผมคิดว่า เราต้องทำความเข้าใจจุดแข็งและข้อจำกัดของเสรีนิยมก่อนเป็นอันดับแรก
******************************
(หนึ่ง) ว่าด้วยจุดแข็งและข้อจำกัดของโมเดล ‘เสรีนิยม’
โมเดลเสรีนิยม น่าจะเป็นระบบที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดและยืดหยุ่นมากที่สุดที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหาต่าง ๆในช่วงทำให้ประเทศทันสมัย (Modernization)
เนื่องจากสังคมมนุษย์ขับเคลื่อนด้วย ‘เรื่องเล่า'(ที่ชวนให้หลงเชื่อ) มากกว่าข้อเท็จจริง
ในช่วงศตวรรษที่ 20 มนุษยชาติตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ “เรื่องเล่าแบบสังคมนิยม” กับ”เรื่องเล่าแบบเสรีนิยม” ที่ขับเคี่ยวกันชิงความเป็นใหญ่ในการครอบงำและชี้แนะแนวทางกับทิศทางให้กับมวลมนุษย์
มิหนำซ้ำทั้งสองเรื่องเล่านี้ ล้วนต่างอวดอ้างเหมือนกันว่าเรื่องเล่าของตนสามารถใช้อธิบายอดีตทั้งปวง และยังสามารถทำนายอนาคตของโลกทั้งใบได้อีกด้วย
เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ขบวนการปฏิวัติไทยภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนการทั้งทางความคิดและการใช้กองกำลังติดอาวุธ เพื่อผลักดัน “เรื่องเล่าแบบสังคมนิยม” ให้เป็นทางเลือกใหม่ของสังคมไทย แทนกระบวนการทำให้ประเทศไทยทันสมัยด้วยกระบวนทัศน์แบบเสรีนิยม ภายใต้การชี้นำและการครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่ทำตัวเป็น ‘ตำรวจโลก’ในยุคนั้น
แต่ในปี 1990 ค่ายคอมมิวนิสต์ล่มสลาย โดยที่ขบวนการปฏิวัติไทยได้ล่มสลายก่อนหน้านั้นถึงสิบปีเต็ม ขบวนการปฏิวัติไทยในฐานะกองกำลังติดอาวุธไม่มีอีกแล้ว หลงเหลือแค่ “ความคิดฝ่ายซ้าย” ที่เป็นซากเดนของเรื่องเล่าแบบสังคมนิยมที่ยังคงตกทอด และถูกผลิตซ้ำอยู่ในหมู่ปัญญาชนหัวก้าวหน้าจากรุ่นสู่รุ่นจนมาถึงปัจจุบันเท่านั้น
เรื่องเล่าแบบเสรีนิยมได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา จนมันเป็นเสมือนคัมภีร์ที่ขาดไม่ได้ในการชี้นำโลกอนาคต
แนวทางแบบเสรีนิยมยกย่องเรื่องคุณค่าและอำนาจของเสรีภาพ รวมทั้งให้คุณค่าแก่ความเท่าเทียมไปพร้อมๆกัน
“ต้องมอบเสรีภาพให้กับประชาชน ต้องปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องทำให้เกิดตลาดเสรี ต้องทำให้ปัจเจกชน/แนวคิด/สินค้า/เงินทุน เคลื่อนไปมาทั่วโลกได้มากที่สุด”
นี่คือความเชื่อแบบสูตรสำเร็จที่เรื่องเล่าแบบเสรีนิยมมอบให้แก่ชาวโลกในช่วง 1990-2008
แต่หลังจากเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 โดยเฉพาะความถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปัจจุบัน
ทำให้คนทั่วโลกเริ่ม ‘ตาสว่าง’ สามารถแลเห็นภาพลวงตาหรือมายาคติของเสรีนิยมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปธรรมแห่งการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจของประเทศจีนในปัจจุบัน ที่ไม่เคยใช้ “การเมืองแบบเสรีนิยม”ในการปกครองประเทศ ทำให้ชนชั้นนำและชนชั้นกลางในหลายๆประเทศรวมทั้งประเทศไทย จำต้องยอมรับข้อจำกัดของเสรีนิยมแบบสูตรสำเร็จของชาติตะวันตกอย่างเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมในนามโลกาภิวัตน์ในช่วงที่ผ่านมา ยังทำให้เกิดการพังทลายของระบบนิเวศและวิกฤตโลกร้อน …. ซึ่งอาจนำไปสู่การล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์และการสูญพันธุ์ของเซเปียนส์ในอนาคตระยะยาวได้
ไม่ใช่แค่นั้น การผงาดขึ้นของดิสรับชันโดยเทคโนโลยี หรือ ดิสรับทีฟเทคโนโลยี ยังได้บ่อนทำลาย”เรื่องเล่าแบบเสรีนิยม”เรื่องความเท่าเทียม ให้ย่อยยับลงกับมือด้วย เพราะเศรษฐกิจในอนาคตที่เป็นระบบอัตโนมัติที่ควบคุมโดยเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ กำลังจะมาแย่งงานของผู้คนจำนวนมาก ทำให้คนจำนวนมากกลายเป็นผู้ที่ไร้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจไปโดยปริยาย
โมเดลของจีน พยายามแก้ไขจุดอ่อนของเสรีนิยมในเรื่องนี้ ผ่านการทำให้ “การเมืองภายในประเทศไม่เป็นเสรีนิยม” แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามขจัดความยากจนและคนยากจนภายในประเทศให้ลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยใช้อัลกอริทึมบิ๊กเดต้า รวมทั้งการใช้แนวทางแบบเสรีนิยมในการค้าขายกับทั่วโลก …
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประเทศจีนตอนนี้ประสบความสำเร็จที่สุดในการใช้ “แนวทางเสรีนิยมแบบย้อนแย้ง” คือทำให้การเมืองภายในประเทศไม่เป็นเสรีนิยม แต่กลับผลักดันแนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจในการค้าขายกับทั่วโลก ถ้าเช่นนั้น แนวทางแบบชาตินิยม (สุดโต่งคือคลั่งชาติ) สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของเสรีนิยมในขณะนี้ได้หรือไม่ ?
คำตอบก็คือ ไม่ได้ ! เพราะสุดท้ายผู้นำประเทศที่ชาตินิยมจัด ก็ต้องเลือกอยู่ดีว่า จะเอาเรื่องเล่าแบบเสรีนิยมหรือสังคมนิยม ที่เห็นได้ชัดว่าใช้ไม่ได้แล้วทั้งคู่ในปัจจุบัน
ถ้าเช่นนั้น แนวทางแบบโหยหาอดีตแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง หรือแนวทางคลั่งศาสนา สามารถเป็นเรื่องเล่าเรื่องใหม่ที่มาทดแทนเรื่องเล่าแบบเสรีนิยมและแบบสังคมนิยมได้หรือไม่ ?
คำตอบก็คือ ไม่ได้เช่นกัน !
ตรงนี้แหละคือโจทย์ทางความคิดที่ยากที่สุดและท้าทายที่สุด สำหรับสถาบันทิศทางไทย