ในที่สุดเตหะรานก็ยืนยันการทดสอบยิงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิคตัวใหม่สำเร็จฉลุย เท่ากับเข้าชมรม Hypersonic โลกเป็นรายที่ ๔ ตามหลังรัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ งานนี้เมกาและอิสราเอลไม่ปลื้ม ที่สำคัญการฟื้นความสัมพันธ์ของอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย เปรียบเสมือนการพลิกโฉมหน้าใหม่ของปฏิสัมพันธ์เชิงรุกในโลกมุสลิม ที่กำลังถอยห่างจากอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญ
วันที่ ๗ มิ.ย.๒๕๖๖ สำนักข่าวทาซนิมนิวส์ รายงานว่า ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงขั้นสูงที่พัฒนาโดยกองกำลังอวกาศพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolution Guards Corps Aerospace Force) ได้รับการเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ขีปนาวุธตัวใหม่นี้ เป็นขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงชื่อ ‘ฟัตตาห์”(Fattah) หรือ “ผู้พิชิต” ได้รับการเปิดเผยโดย IRGC ในกรุงเตหะราน ณ พิธีที่มีประธานาธิบดีอิหร่านอิบราฮีม ไรซี(Ebrahim Raisi) เข้าร่วม
ขีปนาวุธซึ่งได้รับการแต่งตั้งและสนับสนุนจากผู้นำการปฏิวัติอิสลาม อยาตอลเลาะห์ เซยิด อาลี คาเมเนอี มีพิสัยทำการ ๑,๔๐๐ กิโลเมตร
หัวรบของขีปนาวุธมีเครื่องยนต์ทรงกลมที่ทำงานด้วยเชื้อเพลิงแข็งพร้อมหัวฉีดที่เคลื่อนที่ได้ซึ่งช่วยให้ขีปนาวุธเคลื่อนที่ได้ทุกทิศทาง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วIRGC Aerospace Force กล่าวว่าขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่ผลิตในประเทศได้ผ่านการทดสอบทั้งหมดแล้ว ขีปนาวุธใหม่สามารถเจาะระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศทั้งหมด และระเบิดระบบต่อต้านขีปนาวุธของศัตรูได้
ผู้บัญชาการอธิบายว่าการผลิตขีปนาวุธเป็น “ก้าวกระโดดครั้งใหญ่” ในอุตสาหกรรมขีปนาวุธของอิหร่าน ขีปนาวุธสามารถเคลื่อนตัวจากด้านล่างและเหนือชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็ว ๑๓ มัค
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกล่าวว่า IRGC ได้รับความรู้ในการกระจายระบบในขอบเขตทางทหารต่างๆอย่างครบถ้วน
เขาย้ำว่าฟัตตาห์เป็นขีปนาวุธเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือเสียงที่สามารถเปลี่ยนทิศทางในอวกาศและเอาชนะระบบต่อต้านขีปนาวุธได้ “เทคโนโลยีดังกล่าวไม่เป็นที่รู้จักในประเทศส่วนใหญ่ในโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญของประเทศเราประสบความสำเร็จแล้ว”
นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตว่าการก้าวกระโดดและความก้าวหน้าของอิหร่านในภาคการป้องกัน ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมขีปนาวุธและโดรน เกิดจากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และความสามารถทางเทคนิคในการผลิตชิ้นส่วนที่ละเอียดอ่อนและมีเทคโนโลยีสูง
ก่อนหน้านี้อิหร่าน ก็ได้เปิดตัวขีปนาวุธชื่อว่า ไคบาร์ พิสัยไกลถึง ๒ พันกิโลเมตร
เมื่อวันที่ ๒๕ พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมอิหร่านออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป หรือไอซีบีเอ็มรุ่นล่าสุด ชื่อว่า “ไคบาร์” (Kheibar) มีพิสัยทำการประมาณ ๒,๐๐๐ กิโลเมตร เป็นการพัฒนาต่อยอดจากไอซีบีเอ็มรุ่นที่ ๔ จากขีปนาวุธ “คอร์รัมชาร์” (Khorramshahr)
รายงานของรัฐบาลเตหะรานระบุด้วยว่า ไคบาร์สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์น้ำหนักสูงสุด ๑,๕๐๐ กิโลกรัม เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุด “๑๖มัค นอกชั้นบรรยากาศ” และ “๘ มัค เมื่ออยู่ภายในชั้นบรรยากาศ”
ส่วนชื่อของขีปนาวุธ “ได้รับแรงบันดาลใจ” มาจากเมืองไคบาร์ ตั้งอยู่ในซาอุดีอาระเบีย เป็นที่รู้จักตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปถึงสมัยศตวรรษที่ ๗ ว่าเคยเป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างกองกำลังฝ่ายสนับสนุนศาสดามูฮัมหมัด กับกลุ่มผู้อยู่อาศัยชาวยิว และฝ่ายสนับสนุนศาสดามูฮัมหมัดเป็นผู้ชนะ
อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวขีปนาวุธไคบาร์เกิดขึ้นไม่นาน หลังอิสราเอลกับกองกำลังปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา สู้รบกันยาวนาน ๕ วันในพ.ค.ที่ผ่านมานี้ ก่อนยอมตกลงสงบศึกตามการไกล่เกลี่ยของอียิปต์
และข่าวที่น่ายินดีที่สุดข่าวหนึ่งของโลกมุสลิมคือ การกลับมามีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย รูปธรรที่ชัดเจนเวลานี้คือสถานทูตอิหร่านกลับมาเปิดทำการที่ริยาด, ซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง หลังจากความสัมพันธ์ทางการทูตหยุดชะงักลงมา ๗ ปี
นอกจากฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูต อิหร่านและซาอุดีอาระเบีย กำลังจะจัดตั้งแนวร่วมทางเรือขึ้นใหม่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย พลเรือตรี ชาห์ราม อิรานี ผู้บัญชาการกองทัพเรืออิหร่าน กล่าวแสดง ความคิดเห็นในรายการโทรทัศน์เมื่อคืนวันศุกร์สัปดาห์ที่ผ่านมา
ผู้บัญชาการกองทัพเรืออิหร่านกล่าวว่า เกือบทุกประเทศริมชายฝั่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย ได้ข้อสรุปว่าพวกเขาจำเป็นต้องยืนหยัดเคียงข้างอิหร่านและทำงานร่วมกันเพื่อประกันความปลอดภัย
ในขณะที่อิหร่านและโอมาน เคยจัดการซ้อมรบร่วมทางเรือหลายครั้งในอดีต ปัจจุบัน ประเทศอื่นๆ ต่างกระตือรือร้นที่จะร่วมมือทางเรือร่วมกัน เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน อิรัก ปากีสถาน และอินเดีย
เขายืนยันว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ถอนตัวออกจากกลุ่มพันธมิตรทางเรือที่นำโดยสหรัฐฯ ในอ่าวเปอร์เซียแล้ว โดยกล่าวว่า “วันนี้ ประเทศในภูมิภาคต่างตระหนักดีว่าการสร้างความมั่นคงในภูมิภาคนั้นต้องการการผนึกกำลังและความร่วมมือ”
พลเรือตรีอิหร่านชี้ไปที่การจัดตั้งแนวร่วมระดับภูมิภาคและนอกภูมิภาคใหม่ โดยกล่าวว่าแนวร่วมทางเรือไตรภาคีของอิหร่าน รัสเซีย และจีน ซึ่งจัดการฝึกซ้อมประจำปีกำลังพัฒนาแน่นแฟ้น ขณะเดียวกันภูมิภาคนี้จะต้องปราศจาก “กองกำลังนอกกฎหมาย” ใดๆ และประชาชนในภูมิภาคจะได้รับประกันความปลอดภัยด้วยกองทหารของตนเอง