จากกรณีที่มีรายงานว่า ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวสาลี 80% และนำเข้าถั่วเหลือง 90% ของปริมาณที่ใช้และบริโภคในประเทศ และราคาได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่
ต่อมาเมื่อวานนี้ (3 มิถุนายน 2566) ทาง Blockdit World Update ได้รายงานถึงกรณีที่ญี่ปุ่นได้นำเข้าข้าวสาลีของรัสเซียเพิ่มขึ้น โดยบอกว่า หลักคิด “ครองอาหารได้ก็ครองประเทศ ครองพลังงานได้ก็ครองทวีป ครองเงินตราได้ก็ครองโลก” ดำเนินมายาวนาน 5 ทศวรรษ ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ สหรัฐ ไม่ได้ครองอาหาร ครองพลังงานอีกแล้ว เงินตราดอลลาร์ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญเหลือ 58% ของระบบธนาคารทั่วโลก ส่งผลให้อิทธิพลต่อชาวโลกน้อยลงไปด้วย
ฝ่ายจัดระเบียบโลกใหม่หลายขั้วรัสเซีย ครองอาหาร พลังงาน และจีน ผงาดขึ้นมาครองเงินตรา ธนาคารใหญ่ที่สุดของโลก 6 อันดับแรกเป็นของจีน เงินทั้งโลกไหลจากสหรัฐ ยุโรป มุ่งไปยังจีน รัสเซีย เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดของโลก สามารถเพียงพอเลี้ยงดูพลเมืองกว่า 150 ล้านคนให้อิ่ม ที่เหลือส่วนเกินส่งออกขายทั่วโลก
กระทรวงเกษตรรัสเซียรายงานว่า การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกและบริวารไม่กระทบต่อการส่งออกอาหารแม้แต่น้อย ปี 2565 ที่ผ่านมารัสเซียยังคงรักษาสถานะแชมป์ผู้ส่งออกผลิตผลทางการเกษตรเหมือนเดิม แต่ละปีรัสเซียผลิตธัญพืชต่างๆ ได้มากกว่า 150 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นข้าวสาลีมากกว่า 100 ล้านตัน , ยอดส่งออกไปต่างประเทศมีมูลค่ารวม 1.45 ล้านล้านบาท ในขณะที่การนำเข้าสินค้าเกษตรบางชนิด 1.24 ล้านล้านบาท
ช่วงต้นปี 2566 ไม่กี่เดือน ผลผลิตข้าวสาลี มีจำนวนทั้งสิ้น 78 ล้านตัน ส่วนใหญ่ 93% ของธัญพืช ถูกปรับปรุงสายพันธุ์ให้ผ่านสภาพอากาศที่หนาวเย็นอุณหภูมิติดลบมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ปีนี้รัสเซีย จึงส่งออกธัญพืชไปแล้วเกือบ 55 ล้านตัน ข้าวสาลี 20% ที่ส่งออกให้พลเมืองโลกกินนั้น มีการผลิตจากรัสเซีย
นอกจากนี้ ยังส่งออกปลามากกว่า 2 ล้านตัน ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์มากกว่า 730,000 ตันไปยังตลาดต่างประเทศ นับวันการส่งออกสินค้าอาหารรัสเซีย มีมูลค่าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การส่งออกสินค้าเกษตรเหล่านี้จะไม่ไปยังประเทศที่สนับสนุนการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยจะเปลี่ยนทิศทางส่งออกอาหารไปยังประเทศพันธมิตร เพื่อรับประกันว่า “ใครเป็นเพื่อนกับรัสเซียจะไม่อดอยาก”
ผลิตผลการเกษตรของรัสเซีย ไปยังจีน ตุรกี อียิปต์ บังกลาเทศ แอลจีเรีย และปากีสถาน เพิ่มขึ้นอย่างมาก และกระจายไปอีกหลายทวีป ครอบคลุมทั้งโลก ญี่ปุ่น ชาติในกลุ่มชาติอุตสาหกรรม G7 ที่ประกาศเบื้องหน้าว่าคว่ำบาตรสินค้ารัสเซีย ทุกรอบตามลูกพี่สหรัฐ แต่เบื้องหลังญี่ปุ่นก็ยังแอบนำเข้าพลังงานน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน สินแร่ ต่างๆ เหมือนเดิม
เม.ย.2566 กระทรวงการคลังญี่ปุ่น รายงานว่าได้นำเข้าอาหารธัญพืชจากรัสเซียเพิ่มขึ้น 554.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะมีความต้องการข้าวสาลีสูงถึง 5.6 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ 90% ต้องนำเข้า
วิเคราะห์ว่า..อาหารคือปัจจัย 4 ในการดำรงชีพของมนุษย์ และสัตว์เลี้ยง ดังนั้นจะไม่มีใครล้มแชมป์ส่งออกอาหารรายใหญ่ที่สุดของโลกรัสเซียได้ แม้ว่าจะถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรก็ตาม จุดเด่นอาหารรัสเซีย คือ ส่วนใหญ่ไม่ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐ และยุโรป ที่มีฐานะ แต่เปลี่ยนทิศทางไปยังชาติที่ยากจน แห้งแล้ง ปลูกอาหารได้น้อย เช่น ตะวันออกกลาง เอเซียกลาง แอฟริกาส่วนที่แห้งแล้ง และละตินอเมริกา
ส่วนชาติอาเซียน มีวัฒนธรรมกินข้าวจ้าว ข้าวเหนียว จึงไม่ใช่ตลาดหลักข้าวสาลีของรัสเซีย ดังนั้นแม้ชาติตะวันตกคว่ำบาตรอาหารรัสเซีย แต่ชาวโลกยังต้องการกินตลอดเวลา ยิ่งจะสร้างอิทธิพลเจ้าพ่อรัสเซีย ขยายมากขึ้นไปอีกแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.blockdit.com/world.update
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/profile.php?id=100077775671454