จากที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความไม่สบายใจ โดยระบุถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาดนั้น
สำหรับเนื้อหาที่นายปิยบุตร โพสต์มีข้อความบางส่วนที่สำคัญเปิดเผยว่า “ทางพรรคก้าวไกลก็ยอมถอยในหลายประเด็น เพื่อให้พรรคร่วมสบายใจ และจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ เท่านั้นยังไม่พอ ยอมยกกระทรวงที่สังคมจัดให้เป็นกระทรวงเกรดเอให้
พรรคก้าวไกลยอมลด ยอมถอย มาขนาดนี้แล้ว จะต้องยอมขนาดไหนเพื่อให้พรรคอื่นพอใจและจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับพรรคอื่น”
ล่าสุดวันนี้ 24 พฤษภาคม 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์เฟซบุ๊กส่งสัญญาณว่าตำแหน่งประธานสภาควรเป็นของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ว่า ตนคิดว่าเป็นการการแสดงความคิดเห็นของคนที่เรียกได้ว่าเป็นคนทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงตำแหน่งต่างๆ แต่เป็นการในลักษณะที่ออกมา ในมุมที่เรามอง
“ขณะนี้ในบรรยากาศการจะทำงานร่วมกันทั้งในการเจรจาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายแรกคือการเลือกนายกรัฐมนตรี เสมือนมีการกดดันและปิดช่องไม่ให้มีการพูดคุยกัน ซึ่งดูแล้วไม่ใช่แง่บวกเท่าไหร่ ทั้งนี้ตำแหน่งประธานสภาฯ อยู่ที่การตกลงและพูดคุยกันด้วยความเหมาะสม โดยในแต่ละสมัยก็ไม่เหมือนกัน”
ทั้งนี้เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับกรณีที่มีรายงานข่าวระบุว่ามีชื่อตัวบุคคลที่พรรคก้าวไกล วางตัวไว้ให้เป็นประธานสภาฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีพรรษาการทำงานน้อย
โดย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตนไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ เพราะจะเป็นมุมที่ไม่เหมาะสม และเชื่อว่าบุคคลที่ได้รับเลือกจากประชาชนมาเขาย่อมมีความรู้ ความสามารถ และมีวุฒิภาวะ ส่วนจะทำงานเหมาะสมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการปฎิบัติงานของเขา
นอกจากนี้เมื่อถามว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทย มีบุคคลที่มีความเหมาะสมใช่หรือไม่ ทำให้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราเป็นพรรคการเมืองที่อยู่มา 22 ปี มีบุคลากรที่ผ่านการทำงานมาเยอะ เราจะไม่บอกว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่เรามีบุคลากรพร้อม ทั้งนี้ ย้ำว่ายังไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องตำแหน่งต่างๆ เพราะต้องรอพรรคแกนนำเป็นผู้นัดหมาย และเราจะไปกดดันเขาไม่ได้
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รายงานผลเลือกตั้งครบ 400 เขตอย่างไม่เป็นทางการ
พรรคก้าวไกล (ก.ก.) มี ส.ส.เขต 113 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 39 คน (จากคะแนนมหาชน 14,233,895 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 152 คน
พรรคเพื่อไทย (พท.) มี ส.ส.เขต 112 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 29 คน (จากคะแนนมหาชน 10,865,836 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 141 คน
พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มี ส.ส.เขต 67 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน (จากคะแนนมหาชน 1,121,595 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 70 คน
พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มี ส.ส.เขต 39 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คน (คน (จากคะแนนมหาชน 530,017 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 41 คน
ดังนั้นเองหากในการลงคะแนนเลือกประธานสภาฯ ถ้าพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ที่มีกระแสว่ามีการประสานพูดคุยในการจัดตั้งรัฐบาลในกรณีพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยถ้าสองพรรคดังกล่าวลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยก็สามรถเอาชนะพรรคก้าวไกลได้ในการโหวตเลือกประธานสภาฯ