อึ้ง!!!ฝ่าเคอร์ฟิวกว่าหมื่นคดี พบคนช่วงอายุ35-55ปี ทั้งเป็นกลุ่มวัยที่ป่วยมากสุด

0

จากที่นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)แถลงประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,854 ราย รวมทั้งเรื่องเคอร์ฟิวซึ่งมีการฝ่าฝืนจำนวนมากนั้น

ทั้งนี้นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงผลการปฏิบัติการด้านความมั่นคงช่วงเคอร์ฟิว หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปรับเปลี่ยนมาตรการจากตั้งด่านตรวจมาเป็นสายตรวจ ทำให้ตัวเลขการดำเนินคดีลดลง โดยมีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 482 ราย ลดลงจากคืนก่อน 135 ราย ชุมนุมมั่วสุม 39 ราย ลดลงจากคืนก่อน 67 ราย ถือเป็นการตัวเลขต่ำสุดในรอบสองสัปดาห์ ส่วนจังหวัดที่มีผู้ฝ่าฝืนมากที่สุด คือ ปทุมธานี รองลงมาได้แก่ กทม. ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี นนทบุรี กระบี่ ลพบุรี สระบุรี และสุรินทร์

ขณะวันเดียวกันนี้(24 เม.ย.63) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยการดำเนินคดีผู้ที่ทำการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ของสำนักงานอัยการต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ฟ้องคดีต่อศาลในช่วงระหว่างวันที่ 3 – 23 เมษายน 2563 และได้รายงานข้อมูลมายังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

“ปรากฏภาพรวมทั้งประเทศมีการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวรวมแล้วทั้งสิ้น 12,927 คดี มีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี จำนวน 17,284 คน ศูนย์ ศบสค.อส. จัดทำรายงานสถิติคดีการฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ช่วงระหว่างวันที่ 3 – 23 เมษายน 2563 ดังกล่าวเป็นรายวัน ซึ่งได้จำแนกสถิติจำนวนคดี จำนวนผู้กระทำความผิด (แยกเพศหญิง และชาย) และช่วงอายุของผู้กระทำการฝ่าฝืน จากสถิติจะเห็นได้ว่า

1.วันที่มีการกระทำความผิดฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ สูงสุด จะสัมพันธ์กับจำนวนของผู้ติดเชื้อที่พบใหม่ตามรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ซึ่งมีจำนวนที่สูงด้วยเช่นกัน กล่าวคือวันที่มีการพบการกระทำความผิดมากที่สุดคือวันที่ 7 เมษายน 2563 ทั่วประเทศมีผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ทั้งหมด 1,551 คดี ผู้ต้องหารวม 1,919 คน ซึ่งสัมพันธ์กับข้อมูลของ ศบค. ที่รายงานว่าในวันที่ 8 เมษายน 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 111 คน เป็นต้น

2.ช่วงอายุของผู้ที่ผ่าฝืนพระราชกำหนดฯ (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) มากที่สุดคือ ช่วงอายุ 20-35 ปี รองลงมาเป็นช่วงอายุ 35 – 55 ปี ซึ่งก็เป็นช่วงอายุที่สัมพันธ์กับช่วงอายุของกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีจำนวนมากที่สุดด้วยเช่นกัน

3.จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ระยะหลังจำนวนผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมีแนวโน้มลดลง ทั้งจำนวนคดีและจำนวนผู้กระทำความผิด ซึ่งสัมพันธ์กับจำนวนผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มใหม่ เช่น วันที่ 23 เมษายน 2563 มีผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) 455 คดี จำนวนผู้ต้องหา 714 คน ซึ่งเป็นสถิติที่ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ น้อยที่สุดตั้งแต่ประกาศบังคับใช้ ในขณะเดียวกัน ในวันดังกล่าวก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มใหม่น้อยที่สุด เพียง 13 คน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามจากความสัมพันธ์ของข้อมูลดังกล่าว เห็นได้ว่าหากประชาชนมีการปฏิบัติตามพระราชกำหนดฯ(พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)    อย่างเคร่งครัดจะยิ่งทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงได้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดจะยังคงบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ กับผู้กระทำการฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยยับยั้ง และหยุดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019