จากเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ของไทย โดยประชาชนทั่วประเทศออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก ท่ามกลางกระแสข่าวชาติตะวันตกจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของไทยด้วยนั้น
ทั้งนี้วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทย ได้ออกเผยแพร่สารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ของไทยจากนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ซึ่งระบุข้อความว่า
“เมื่อวานนี้ประชาชนหลายสิบล้านคนได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรไทย ในฐานะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง สื่อมวลชน ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และที่สำคัญที่สุด ผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง สหรัฐอเมริกาในฐานะเพื่อนและพันธมิตรที่ยาวนานของไทย ตั้งตารอที่จะได้ทราบผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ”
ก่อนหน้านี้ 13 พฤษภาคม 2566 มีรายงาน นายคงยศ บุญรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)กำแพงเพชร พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำแพงเพชร ได้ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย
องค์กรจัดการเลือกตั้งต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ ที่ได้ขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ส.ส. ณ หน่วยเลือกตั้งต่างๆ
โดย ผอ.กกต.กำแพงเพชร กล่าวว่า กกต.กลาง ได้มีหนังสือมายังสำนักงาน กกต.กำแพงเพชร แจ้งเรื่องผู้แทนเอกอัครราชทูตฯ ขออนุญาตในการเข้าสังเกตการณ์ดังกล่าวแล้ว
“ทาง กกต.กำแพงเพชร พร้อมอำนวยความสะดวกในการเข้าแก่คณะผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย องค์กรจัดการเลือกตั้งต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ จำนวน 2 คน ที่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องและข้อบังคับ”
ขณะที่ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ผู้แทนจากสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย จะได้ลงพื้นที่ไปยังหอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อสังเกตการณ์การส่งมอบวัสดุ อุปกรณ์การเลือกตั้งให้แก่หน่วยเลือกตั้งในเเต่ละเขตอีกด้วย
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ยังได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กซึ่งระบุบางช่วงที่สำคัญว่า คนไทยชักศึกเข้าบ้าน หรือ สหรัฐแทรกแซงอธิปไตย
จากเอกสารที่คนไทยกลุ่มหนึ่งอ้างกล่าวหาให้ร้ายประเทศไทย ส่งถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาและวุฒิสมาชิกกลุ่มหนึ่งของสหรัฐเคลื่อนไหวต่อเนื่องจะออกมติวุฒิสภา ที่ 114 ต่อประเทศไทยนั้น
3 พฤษภาคม 2566 คณะกรรมาธิการการต่างประเทศและคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา จึงได้เชิญเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค และคณะ เพื่อประสานสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเท็จจริง ที่ห้องรับรองพิเศษวุฒิสภา
ในระหว่างการหารือกัน ผมได้เสนอให้ท่านทูตสหรัฐรับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และยืนยันว่า มิได้เป็นไปตามที่กลุ่มบุคคลเหล่านั้นไปกล่าวหาให้ร้าย คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาไทย ที่ติดตามการดูแลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต) ไม่พบปัญหาดังที่มีการกล่าวหา
โดยประเทศไทยนั้นให้เสรีภาพเต็มที่ในการหาเสียงเลือกตั้งของทุกพรรคการเมือง และสื่อมวลชนสามารถสื่อข่าวสารได้อย่างเสรีไม่มีปิดกั้น