ก้าวไกลช็อค!โบว์ ณัฏฐา เปิดจำนวน ส.ส.ที่หนุนพิธาเป็นนายกฯมีไม่ถึงครึ่ง! ถ้าได้โหวตไม่พอ พท.มีสิทธิ์จัดสูตร-เสนอแคนดิเดทตั้งรบ.
จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (15 พฤษภาคม 2566) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล แถลงชัยชนะผลการเลือกตั้ง 2566 โดยได้เริ่มแนะนำตัวว่า “ผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ของประเทศไทย”

ก่อนจะเริ่มแถลงว่า พรรคก้าวไกลพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป น้อมรับเสียงจากพี่น้องประชาชน พลิกขั้วจากพรรคฝ่ายค้านเดิม และพร้อมจะเป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน พร้อมฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เพื่อให้ผมเป็นนายกฯที่ดีขึ้น พร้อมให้เกียรติกับทุกคนที่ต่อสู้มา คืนศรัทธาให้กับระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา

นายพิธากล่าวว่า มีโอกาสติดต่อกับแกนนำทั้ง 5 พรรค ทั้งติดต่อไปและแกนนำติดต่อมา รวมถึงโทรหา อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และได้เชิญชวนพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล รวมทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ส่วนทั้ง 5 พรรคที่ติดต่อกัน ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย รวมกันตอนนี้มี 308 เสียง กำลังติดต่อ พรรคเป็นธรรม อีก 1 พรรค รวมกันเป็น 309 เสียง คิดว่าเพียงพอแล้วในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก

ต่อมาทางด้านของ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมทางการเมือง โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า
ส.ส.ที่ไม่ใช่พรรคร่วมและจะยกมือให้พิธาเป็นนายก เขาต้องมีความต้องการครบทั้งสามอย่างนี้ก่อนค่ะ
1. อยากปิดสวิตซ์ สว.
2. อยากได้พิธาเป็นนายก และ
3. อยากได้สังคมแบบที่พรรคก้าวไกลสร้าง
การโหวตเลือกนายกฯเป็นสิทธิที่เขาได้มาจากประชาชนที่เลือกเขามาเหมือนกัน หากคนเหล่านั้นต้องการข้อ2-3 คงเลือกก้าวไกลไปแล้ว อย่าเอาแต่ใจตัวเอง. (และสำหรับพรรคที่มีนโยบาย ขัด แย้ง หรือตรงข้ามกับแนวทางของก้าวไกล หากไปโหวตให้พิธา จะเท่ากับทรยศ voters ของตัวเองทันที)
และล่าสุดวันนี้ (16 พฤษภาคม 2566) โบว์ ณัฏฐา ก็ได้โพสต์ข้อความต่ออีกว่า สส.ที่อยากได้พิธาเป็นนายก มี 150 คนจาก 500 .. ซึ่งไม่ถึงครึ่ง อีก 150 กว่าเสียงที่ไปเติม คือตัวแทนจากพรรคที่อยาก “ร่วมรัฐบาล” ไม่ใช่ตัวแทนของคนที่อยากให้พิธาเป็นนายก เพราะสส.เหล่านั้นหาเสียงให้แคนดิเดทคนอื่นหมด ตอนเลือกตั้ง
จะไปเหมาว่านี่คือการแสดงว่าคนไทยส่วนใหญ่อยากให้พิธาเป็นนายก จนต้องบีบให้พรรคที่เขาไม่อยากได้ “พิธา” มาหลับหูหลับตาโหวตให้ .. ไม่ได้

ไม่มีใครต้องไปโหวตสนับสนุน “การร่วมรัฐบาล” หรือความอยากเป็นนายกของใคร ถ้าเขาไม่ได้ต้องการ เหตุผลพื้นฐานที่สุดของการโหวตคือการแสดงความต้องการ เพื่อเอามานับกันแล้วกำหนดทิศทางประเทศ
การบีบให้คนต้องเลือกในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ไม่ใช่ประชาธิปไตยค่ะ อย่าใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” ให้มันมั่วไปกว่านี้
เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขกติกาเพี้ยนๆ ก็ต้องหาทางเอาชนะตามกติกาให้ได้ ไม่ใช่ไปสร้างความเพี้ยนใหม่ขึ้นมา (ตอนเรารณรงค์แก้ ม.272 ตัดอำนาจสว.โหวตนายกฯ มีคนมาร่วมลงชื่อแปดหมื่นคน ที่เหลือบอกจะทำไปทำไมไร้สาระ เดี๋ยวชนะเลือกตั้งถล่มทลายก็ปิดสวิตช์ สว. ได้เอง ถึงตอนนี้ทำไม่ได้ตามนั้น จะเลือกใช้วิธีไปบีบบังคับคนอื่น)
ถ้าพิธาได้โหวตไม่พอ พรรคต่อไปมีสิทธิลองเสนอแคนดิเดทของตัวเองแล้วจัดสูตรใหม่บ้าง และควรทำด้วย ถ้าไม่ทำก็ประหลาดแล้ว ตกลงคุณหาเสียงมาแทบตาย เพื่อให้พรรคอื่นซึ่งได้เสียงไม่ถึงครึ่งเป็นนายกหรือ? … ลองดูว่าคุณ “เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย” ได้มากกว่าหรือไม่ นั่นคือคุณสมบัติที่นายกฯของวันพรุ่งนี้ต้องมี ถ้าพรรคเพื่อไทยยังไม่ Get a grip ทุกอย่างจะหลุดไปอยู่ในมือของคนที่คุณไม่ต้องการแน่นอน