จากที่วันนี้ 15 พฤษภาคม 2566 อดีตผู้พิพากษา ได้ออกมาให้ความเห็น พร้อมยกข้อกฎหมายถึงกรณีหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่โดยร้องเรียนกรณีถือหุ้นสื่อนั้น
ทั้งนี้ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ถึงกรณีดังกล่าวไว้ว่า “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ไปยื่นคำร้องต่อ กตต. ให้ตรวจสอบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และเป็นผู้ที่พรรคก้าวไกลเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคว่า เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น
ขาดคุณสมบัติผู้รับสมัครเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ที่บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ
(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
นายพิธาแจ้งแก่บุคคลทั่วไปว่า หุ้นดังกล่าวไม่ใช่ของตนแต่เป็นของกองมรดก ตนเพียงมีฐานะผู้จัดการมรดก
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1711 บัญญัติว่า ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งที่ตั้งโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล
ถ้านายพิธาถือหุ้นดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดก นายพิธาก็ต้องมีคำสั่งศาลหรือพินัยกรรมที่ตั้งให้นายพิธาเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งนายพิธาสามารถนำมาแสดงได้
ตามรายชื่อผู้ถือหุ้นของใน บมจ. 006 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ระบุเพียงว่า นายพิธาถือหุ้นจำนวน 42,000 หุ้น ไม่ได้ระบุไว้เลยว่า เป็นของกองมรดกหรือนายพิธาถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก ซึ่งตามปกติต้องระบุไว้เพื่อให้บุคคลภายนอกได้รับรู้
อย่างไรก็ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 บัญญัติว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
เมื่อบิดานายพิธาตายหุ้นทั้งหมดก็ตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งนายพิธาด้วย แม้หุ้นยังไม่ได้จัดการแบ่งให้แก่ทายาท และนายพิธาเป็นผู้จัดการมรดกจริง นายพิธาก็มีกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งในฐานะทายาทของผู้ตายคนหนึ่ง
ตามข้อกฎหมายและข้อเท็จดังที่กล่าวมา นายพิธาย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นายพิธาไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)
ประเด็นที่ว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยังประกอบกิจสื่อมวลชนอยู่ในปัจจุบันหรือไม่นั้น
ปรากฎตามข้อมูลของบริษัทว่า ยังดำเนินกิจการอยู่ และได้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 โดยในการประชุมมีผู้ถือหุ้นคนหนึ่งถามในที่ประชุมว่า “บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่”
มีคำตอบว่า “ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบนิติบุคคลตามปกติ”
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมฟังได้ว่า นายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนที่ยังดำเนินการการอยู่ จึงน่าจะเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)
กรณีของนายพิธาจะนำไปเปรียบเทียบกับคดีของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส. พรรค ปชป ไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงต่างกัน เนื่องจากนายชาญชัยถือหุ้นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน แต่ เอไอเอสได้ไปลงทุนในบริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และบริษัท เยลโล่ เพจเจส คอมเมอรส์ จํากัด ที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน
กล่าวคือนายชาญชัยไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อสารมวลชนโดยตรง แต่บริษัทที่นายชาญชัยถือหุ้นไปถือบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน จึงไม่เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)
แต่กรณีของนายพิธาเป็นการถือหุ้นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนโดยตรงที่มีลักษณะเหมือนกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ถ้านายพิธาเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ก็ไม่อาจดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรีได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ที่บัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98