ก้าวไกลระทึก! ทนายดังกางกม. จับโป๊ะ “พิธา” ปมถือหุ้นไอทีวี งัดหลักฐานเป็นเจ้าของสมบูรณ์แล้ว? ลุ้นศาลรธน.ตัดสิน
จากกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยข้อมูลนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น จึงต้องการให้กกต.ตรวจสอบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส
และเมื่อตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงตามข้อมูลเมื่อวันที่ 7 เม.ย.66 ที่ทำให้เข้าใจว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในลำดับที่ 6,121 เลขทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ 4030954168 ที่อยู่ 98/xx อาคารซิลเวอร์เฮอริเทจ ซ.สุขุมวิท xx ถ.สุขุมวิท พระโขนง คลองเตย 10110 สัญชาติไทย จำนวน 42,000 หุ้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 256 นายพิธา ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า “ต่อกรณีหุ้น ITV ผมไม่มีความกังวลเพราะ ไม่ใช่หุ้นของผม เป็นของกองมรดก ผมเพียงมีฐานะ ผจก.มรดก และได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ปปช. ไปนานแล้วฝ่ายทีมกฎหมายพร้อมเตรียมการชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต.ส่งคำร้องมา เรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัด #พรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการ #ทลายทุนผูกขาด ในประเทศนี้”
ขณะนี้พรรคก้าวไกลมาแรงที่สุด ย่อมเป็นธรรมดาที่จะถูกสกัด แต่ขอให้ผู้สมัคร ทีมงาน หัวคะแนนธรรมชาติ และประชาชนผู้สนับสนุนทุกคน อย่าหวั่นไหว อย่าเสียสมาธิกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ผมขอให้ทุกคนมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรจะมาขัดขวาง #ก้าวไกล เราได้อีกแล้วครับ
ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 น.ส.วรพรรณ เบญจวรกุล หรือทนายเล็ก โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า บุคคลใดถึงแก่ความตาย มรดกของบุคคลนั้นจะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ทันทีที่ตาย ผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิในทรัพย์สินที่เป็นมรดกร่วมกับทายาทอื่น ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ให้ถือว่าผู้จัดการมรดกถือไว้แทนทายาทอื่นด้วย
หุ้นที่เป็นมรดกตกทอด ผู้จัดการมรดกเข้าถือหุ้นแทนทายาทคนอื่นด้วยก็จริง แต่ตัวผู้จัดการมรดกเองก็คือทายาทโดยธรรมคนหนึ่งที่มีสิทธิในหุ้นที่เป็นกองมรดกของบิดาผู้วายชนม์ ดังนั้นก็ถือว่าผู้จัดการมรดกเข้าถือครองหุ้นในส่วนของตนเช่นกัน ตามอัตราส่วนของหุ้นที่เป็นมรดกหารด้วยจำนวนทายาทโดยธรรม
การเป็นเจ้าของหุ้น เริ่มตั้งแต่เจ้ามรดกเสียชีวิต หุ้นนั้นก็จะตกเป็นของทายาททันทีที่เจ้ามรดกเสียชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ดังนั้น การที่นายพิธา อ้างว่า “ไม่ใช่หุ้นของผม เป็นกองมรดก ผมเพียงมีฐานะผู้จัดการมรดก” นั้นจึงไม่ถูกต้อง เพราะ
1.นายพิธา คือหนึ่งในทายาทโดยธรรม หุ้นนั้นตกเป็นของนายพิธาและทายาทอื่นด้วยทันทีที่บิดาเสียชีวิต
2.นายพิธาแสดงตนรับโอนหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกแล้ว
การเป็นเจ้าของหุ้นในส่วนของนายพิธา จึงสมบูรณ์แล้ว (หลักฐานชัดเจนแบบนี้….คงรอดยาก)
ต่อมา ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์เฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich ว่า นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ เสียชีวิตตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ นับระยะเวลาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า ๑๗ ปี อันเป็นระยะอันสมควรที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการจัดการกองทรัพย์มรดกจนแล้วเสร็จมาหลายสิบปีแล้ว
การอ้างว่าเป็นหุ้นมรดก เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ทำตามกรอบระยะเวลาของกฎหมายในการเป็นผู้จัดการมรดก ปพพ. มาตรา ๑๗๓๒ ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗๒๘ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม ทายาทโดยจำนวนข้างมาก หรือศาลจะได้กำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น
ปพพ. มาตรา ๑๗๒๘ ผู้จัดการมรดกต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในสิบห้าวัน
(๑) นับแต่เจ้ามรดกตาย ถ้าในขณะนั้นผู้จัดการมรดกได้รู้ถึงการตั้งแต่งตามพินัยกรรมที่มอบหมายไว้แก่ตน หรือ
(๒) นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา ๑๗๒๖ ในกรณีที่ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก หรือ
(๓) นับแต่วันที่ผู้จัดการมรดกรับเป็นผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น
นอกจากนี้ในแบบ บมจ 006 บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัดที่ต้องนำส่งกรมธุรกิจการค้าและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย น่าจะมีการโอนหุ้นมาเป็นชื่อตัวเองแล้วครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะตามปกติถ้าเป็นผู้จัดการมรดกใน บมจ006 ต้องมีวงเล็บตามหลังว่า ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก แต่ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั้นไม่มี
ประเด็นนี้อาจจะนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลได้เช่นเดียวกับการถือหุ้นสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และเกิดการยุบพรรคอนาคตใหม่มาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้อาจจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป