แพทย์เผยคนไทยเสี่ยงรับสารเคมีเกษตร 2.6 กก./คน/ปี เกษตรกรโดนก่อน ตายด้วยมะเร็ง
อนาถใจ!! กลุ่มคนเสี่ยงตาย ออกหน้าปกป้องสารพิษ แทน บริษัทข้ามชาติ นายทุนนำเข้า
เหตุเพราะ 3 หัว: ฝังหัว, ขาดหัว, นายหัว
เกษตรกรผู้ใช้สารเคมีการเกษตรคือเหยื่ออันดับต้นของสารเคมีที่ตนเองใช้และเกิดผลต่อสุขภาพนานับประการ งานวิจัยของสุรพล อิสระไกรศิล ตีพิมพ์ใน Annals of Hematology มีนาคม 2009 ศึกษาปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในประเทศไทย ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว 180 คนเทียบกับกลุ่มควบคุมที่มีภูมิหลังแบบเดียวกัน 756 คน พบว่าการทำงานหรืออยู่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงมีความเสี่ยงอันดับหนึ่ง อาชีพที่ใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีเกษตรอื่นๆมีความเสี่ยงอันดับสอง สัมผัสเบนซินและสารเคมีอื่นไม่เลือกประเภทมีความเสี่ยงอันดับสาม คลื่นมือถือเพิ่มเสี่ยงแต่ยังไม่ชัดทางสถิติ
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีปริมาณการนำเข้าสารกำจัดแมลงเท่ากับ 34,672,000 กิโลกรัม ปริมาณนำเข้าสารกำจัดวัชพืชเท่ากับ 112,176,000 กิโลกรัม ปริมาณนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดเท่ากับ 164,383,000 กิโลกรัม จากการคำนวณค่าเฉลี่ยพบว่าคนไทย 64.1 ล้านคน มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากกว่า 2.6 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
ข้อมูลอัตราผู้ป่วยนอกจากกลุ่มโรคสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Toxic effect of pesticides) (กลุ่มอาการ รหัส T600 ตามระบบ ICD-10) สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2556 มีอัตราผู้ป่วยนอกจากกลุ่มโรคสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเท่ากับ 12.37 ต่อประชากรแสนคน เทียบกับอัตราผู้ป่วยนอกในปี 2554 มีอัตราป่วยที่สูงมากกว่าเกือบเท่าตัว และพบว่ากลุ่มอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 37.07 รองลงมา ได้แก่ กลุ่มอาชีพรับจ้าง 28.88
เป็นที่ยืนยันว่าเกษตรกรไทยมีสารเคมีเป็นพิษในเลือดสูงมากหลักฐานยืนยันตั้งแต่ปี 2540 กระทรวงสาธารณสุขตรวจเลือดเกษตรกร 563,353 คนมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินเกณฑ์ 16.35% หรือ 89,926 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปี 2550 ตรวจพบสารพิษในเลือดเกินเกณฑ์ 39%
อย่างไรก็ตามบุคคลทั่วไปก็มีความเสี่ยงสารพิษสูงเช่นกัน ตัวเลขจากจังหวัดเชียงใหม่ พบเกษตรกรและแม่บ้านมีสารเคมีตกค้างในระดับไม่ปลอดภัย 75% ส่วนผู้บริโภคที่รวมทั้งนักเรียน บุคคลากรในมหาวิทยาลัย ข้าราชการมีสารเคมีสูงถึง 89.22% ผู้วิจัยกล่าวว่าสาเหตุหลักของความแตกต่างนี้อาจเป็นเพราะเกษตรกรมีตัวเลือกในการอาหารที่ปลอดภัยมากกว่าผู้บริโภคทั่วไป พูดง่ายๆว่า “คนปลูกไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ปลูก”
ทีนี้ว่าด้วยไกลโฟเซต สำนักข่าว BBC ไทยออกข่าวเมื่อ 12 สค. 2018 ว่า “รู้จัก “ไกลโฟเซต” สารกำจัดวัชพืชที่แพ้คดีสารก่อมะเร็งในสหรัฐฯ ข่าวมีว่าคณะลูกขุนในสหรัฐฯมีคำสั่งให้บริษัทมอนซานโต้เจ้าของผลิตภัณฑ์จ่ายค่าเสียหาย 289 ล้านดอลล่าห์สหรัฐฯให้แก่ชายคนหนึ่งที่เป็นคนสวนโรงเรียนซึ่งล้มป่วยด้วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพราะใช้ผลิตภัณฑ์ปราบศัตรูพืชไกลโฟเซต รัฐแคลิฟอร์เนียผลักดันให้ติดฉลากเตือนยาฆ่าหญ้า “ราวด์อัพ” มีสารก่อมะเร็ง ปัจจุบันมีผู้ยื่นฟ้องคดีในลักษณะเดียวกันกว่า 5,000 รายทั่วสหรัฐฯ ปัจจุบันบางประเทศเช่น โปรตุเกส อิตาลี และนครแวนคูเวอร์ แคนาดาออกกฎห้ามใช้สารไกลโคเซตในพื้นที่สวนสาธารณะ ทางการศรีลังกาห้ามใช้สารนี้ตั้งแต่ปี 2015
ในประเทศไทยข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดีปี 2553-2559 พบว่า ไกลโฟเซตมีส่วนกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นถึง 5-13 เท่า และยังออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทส่วนกลางระยะยาวด้วย
เรื่องมีพิษนั้นเป็นของแน่ แต่การคัดค้านไม่ให้แบนสารพิษ ปรากฏว่าเกษตรกรซึ่งคือกลุ่มคนเสี่ยงตายกลับมาออกหน้าปกป้องสารพิษ แทนบริษัทข้ามชาติและนายทุนนำเข้า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบคือ:
1.ฝังหัว เราฝังหัวว่าถ้าไม่มีเกษตรเคมีเราต้องอดตาย เกษตรกรปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ไม่ได้ ไม่มีเงินจ่ายหนี้สินเงินกู้เมล็ดพันธุ์และสารเคมีเกษตรที่ลงทุนไป นี่เป็นวงจรอุบาทว์ของเกษตรเคมีที่ฝังหัวคนทั่วโลก และเราเป็นส่วนหนึ่งของวงจร
2.ขาดหัว ทิศทางเกษตรกรรมไทย ขาดผู้นำที่จะชี้ทิศนำทางสู่เกษตรอินทรีย์ ขาดขั้นตอนดำเนินการ
3.นายหัว แม้จะเป็นคำใต้ แต่ขอนำมาใช้ในเรื่องนี้ เพราะเรื่องแบนสารมีการชักกะเย่อกลับไปกลับมา ทำให้ชวนสงสัยว่ามีกลุ่มทุนที่อาจเชื่อมโยงไปถึงอำนาจการเมืองเข้ามาชักใยอยู่เบื้องหลังหรือไม่? โดยเอาต้นทุนทางสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศเป็นตัวประกัน
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
#ฝังหัว #ขาดหัว #นายหัว