การเยือนสหรัฐฯ ของผู้นำเกาหลีใต้บ่งบอกถึงเวทีสำหรับสงครามเย็นครั้งใหม่ที่จะพัฒนาไปสู่สงครามร้อนในเอเชียแปซิฟิกได้เปิดฉากขึ้นแล้ว
ประธานาธิบดียุน ซุก-ยอล ผู้นำฝ่ายขวาของเกาหลีใต้ ได้ทำให้ความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือหยุดชะงักลงหลังจากมีความพยายามหลายสมัยในการกลับมาคืนดีของสองชาติเหนือและใต้ที่มีเชื้อสายเกาหลีเช่นกัน
เกรก เอลิช(Greg Elich) สมาชิกคณะกรรมการของสถาบันนโยบายเกาหลีและผู้สนับสนุนการรวบรวมการคว่ำบาตรเป็นสงคราม เสนอ มุมมองต่อต้านจักรวรรดินิยมเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ภูมิเศรษฐกิจของอเมริกา กล่าวว่าโซลเข้าข้างวอชิงตันในสงครามเย็นครั้งใหม่ที่คุกรุ่นขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว
เอลิชฟันธงว่าการเยือนของ Yoon เป็น “การรุกรานทางทหารอย่างเปิดเผย การสร้างพันธมิตร และการส่งสัญญาณภัยคุกคาม” ไม่ใช่ “การสะกดรอยการทดสอบขีปนาวุธของเปียงยาง”อย่างที่อ้าง
เอลิชกล่าวว่า “หนึ่งในประเด็นสำคัญที่พวกเขาจะหารือกันในสัปดาห์นี้คือร่มนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เหนือเกาหลีใต้ และสถานการณ์ใดบ้างที่สหรัฐฯ จะใช้อาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ” “ทั้งสหรัฐฯ และยุนต้องการแสดงท่าทีก้าวร้าวมากขึ้นกับเกาหลีเหนือ พวกเขาทำทุกอย่างเพื่อเพิ่มความตึงเครียด”
วันที่ ๒๗ เม.ย.๒๕๖๖ สำนักข่าวทาซซ์และสปุ๊ตนิกรายงานว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดี ยุน ซุก ยอล ของเกาหลีใต้ หลังการพูดคุยที่ทำเนียบขาวเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯ จะไม่ประจำการอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี
เขากล่าวว่า “เราจะไม่ประจำการอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทร แต่เราจะมีการเยี่ยมเยียนท่าเรือด้วยเรือดำน้ำนิวเคลียร์ และอะไรทำนองนั้น”
ไบเดนพูดในบริบทของปฏิญญาวอชิงตัน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ และจัดให้มีการจัดตั้งกลุ่มที่ปรึกษาด้านนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ เพื่อประสานงานกลยุทธ์ตอบโต้นิวเคลียร์ต่อภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ
ทั้งไบเดนและยุน แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า หากเกาหลีเหนือโจมตีเกาหลีใต้หรือสหรัฐฯ การตอบโต้ของพวกเขาจะเป็นแบบทำลายล้าง
ยุนกล่าวขู่เกาหลีเหนือว่า “ในกรณีที่เกาหลีเหนือโจมตีทางนิวเคลียร์ใดๆ วอชิงตันและโซลเห็นพ้องตอบโต้อย่างรวดเร็ว เหนือกว่าและแน่วแน่ โดยใช้สรรพกำลังทั้งหมดของพันธมิตร ในนั้นรวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ”
เมื่อวันอังคาร เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า สหรัฐฯ ไม่มีแผนที่จะส่งคืนอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีของสหรัฐฯ ไปยังคาบสมุทรเกาหลี เธอกล่าวว่าแผนใหม่ของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ “มองเห็นว่าการโจมตีของเรือดำน้ำติดขีปนาวุธจะตามมาด้วยทรัพย์สินประเภทอื่น” รวมถึง “เครื่องบินทิ้งระเบิดหรือเรือบรรทุกเครื่องบิน”
ก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เรียกร้องให้เกาหลีใต้ปรับใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีอีกครั้ง และสหรัฐฯควรจัดฐานนิวเคลียร์ที่โซล ขั้นตอนนี้ “จะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะยับยั้งเกาหลีเหนือ”
ทางด้านสหรัฐฯ แคธลีน ฮิกส์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯออกมาให้สัมภาษณ์สื่ออย่างฮึกเหิมว่า “เพนตากอนจะใช้บทเรียนจากการจัดหาความช่วยเหลือทางทหารมอบแก่ยูเครน สำหรับนำไปช่วยไต้หวัน รับมือกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งกับจีน”
ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย เน้นย้ำให้เห็นถึงความยากลำบากในการจัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์ป้อนแก่เคียฟให้รวดเร็วเพียงพอ ฮิกส์อธิบาย ในขณะที่สหรัฐฯ ตัดสินใจใช้อำนาจของประธานาธิบดีตามกฎหมายส่งมอบสิ่งของและบริการยามฉุกเฉิน (Presidential Drawdown Authority) ซ้ำๆ ในการเร่งรัดการถ่ายโอนอาวุธและยุทโธปกรณ์แก่ยูเครน และมีแผนทำแบบเดียวกันกับไต้หวัน
“ในตอนนี้เรากำลังคิดทบทวนเกี่ยวกับแนวทางที่เราจะใช้อำนาจนั้น เพื่อก่อการจัดส่งรวดเร็วขึ้นและมีศักยภาพมากกว่าเดิม สำหรับป้อนแก่กองกำลังของเราในแปซิฟิก” ฮิกส์ กล่าว พร้อมระบุว่า เพนตากอนมี “ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่มุ่งเน้นไปที่จีนโดยเฉพาะ”
แม้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมรายนี้ ระบุสหรัฐฯ ไม่เชื่อว่าปักกิ่งกำลังมีแผนโจมตีไต้หวันในอนาคตอันใกล้ แต่เธอเน้นย้ำว่าเพนตากอนมีพันธสัญญาสำหรับ “ทำให้แน่ใจว่าพวกผู้นำจีนจะตื่นขึ้นมาในทุกๆ วันและตระหนักว่าวันนี้ไม่ใช่วันที่จะดำเนินการรุกรานที่คุกคามผลประโยชน์ของสหรัฐฯ”
ในดือนธันวาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ลงนามในกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Defense Authorization Act : NDAA) ซึ่งในนั้นรวมถึงเงินกู้ยืมทางทหาร ๒,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ที่มอบแก่ไต้หวัน นอกจากนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวยังเปิดทางให้วอชิงตันจัดตั้งคลังกระสุนฉุกเฉินมูลค่าสูงสุด ๑๐๐ ล้านดอลลาร์ บนเกาะหรือใกล้เกาะแห่งนี้
เฉิน เจี้ยน-เหริน นายกรัฐมนตรีไต้หวัน เปิดเผยในวันจันทร์ที่ ๒๔ เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า “ข้อเสนอสำหรับคลังอาวุธฉุกเฉินในภูมิภาคยังคงอยู่ในกระบวนการเจรจา” ทั้งนี้ เฉิน ยืนยันว่าไต้หวันและสหรัฐฯ ได้พูดคุยหารือกันเกี่ยวกับแผนดังกล่าว นับตั้งแต่กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Defense Authorization Act หรือ NDAA) ได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสอเมริกาเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว
NDAA ซึ่งลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๕ ในนั้นรวมถึงการจัดหาความช่วยเหลือด้านการทหาร และโครงการความร่วมมือต่างๆ สำหรับเกาะไต้หวัน
วาทะแบบพูดอย่างทำอีกอย่างของสหรัฐฯเกิดขึ้นเสมอจนชาวโลกรู้เช่นเห็นชาติแล้วว่าเป็นแบบไหน การเลี่ยงคำว่าไม่ประจำการนิวเคลียร์แต่จะส่งเรือดำน้ำนิวเคลียร์หรืออื่นๆล้วนซ่อนความนัยอย่างปิดไม่มิด นับแต่นี้เอเชีย-แปซิฟิกจะไม่เหมือนเดิม