จากที่ชาติตะวันตกพากันคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งดำเนินมาตลอดอย่างน้อยหนึ่งปีแล้วนั่น ยิ่งส่งผลตรงกันข้าม นั่นคือ บรรดาชาติยุโรปเองที่ได้รับผลกระทบต้องซื้อน้ำมันในราคาสุดแพง ในขณะที่รัสเซียกลับร่ำรวยขึ้นจากการขายก๊าซ พลังงาน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 Blockdit World Update โพสต์ถึงสถานการณ์ของรัสเซียและชาติยุโรปภายหลังการคว่ำบาตรว่า “ผลจากที่สหรัฐ , กลุ่ม G7 , สหภาพยุโรป (EU) คว่ำบาตรน้ำมัน ก๊าซ กำหนดเพดานราคาน้ำมัน หวังตัดรายได้รัสเซีย อีกทั้งสหรัฐ มาก่อกวนจะทำสงครามจีนในทะเลจีนใต้
ยิ่งส่งผลให้ฝ่ายจัดระเบียบโลกใหม่หลายขั้ว นำโดยจีน โหมกระหน่ำซื้อพลังงานน้ำมัน ก๊าซ จากคู่หูรัสเซีย มากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สร้างรายได้มหาศาลให้กับรัสเซีย
บริษัทโรงกลั่น PetroChina และ Sinopec รัฐวิสาหกิจจีน และบริษัทกลั่นน้ำมันเอกชนขนาดใหญ่ Hengli Petrochemical และ Jiangsu Eastern Shenghong Co ทุ่มเงินสั่งนำเข้าน้ำมันรัสเซียขนานใหญ่
มีนาคม 2566 ศุลกากรจีนนำเข้าน้ำมันดิบของรัสเซีย โดยทางท่อบนบก และขนส่งทางทะเลจากท่าเรือทะเลบอลติก ของรัสเซีย เพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ที่ 9.61 ล้านตัน (เทียบเท่ากับ 2.26 ล้านบาร์เรล/วัน)
เฉพาะน้ำมันดิบเกรดอูราลรัสเซีย ส่งออกให้จีนถึงราว 700,000 บาร์เรล/วัน ส่วนโรงกลั่นเอกชนจีนขนาดเล็กนำเข้าน้ำมันดิบเกรดอาร์กติก ของรัสเซีย , น้ำมันจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา
แค่เดือนมีนาคม 2566 เดือนเดียว น้ำมันดิบเกรดอาร์กติกรัสเซีย 4.2 ล้านบาร์เรล ถูกส่งออกไปยังมณฑลซานตงของจีน ที่เป็นที่ตั้งของโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กส่วนใหญ่
เมษายน 2566 ท่าเรือทางตะวันตกของรัสเซีย ส่งออกน้ำมันดิบมากกว่า 2.4 ล้านบาร์เรล/วัน โดยรัสเซีย มอบส่วนลดน้ำมันดิบอูราลให้จีนเฉลี่ย 330 บาท/บาร์เรล ราคาจึงอยู่ในระดับมาตรฐาน และรัสเซีย มีผลกำไรอย่างมาก
นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค อนาโดลู รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปีที่แล้ว 2565 รัสเซีย ส่งออกก๊าซให้จีน 15,000 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้บริษัท Gazprom รัฐวิสาหกิจรัสเซีย ส่งออกก๊าซ 10,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ราว 70% ให้กับจีนผ่านทางท่อส่ง Power of Siberia 1 ที่กำลังสร้างท่อเพิ่มอีก
ท่อนี้สามารถรับการส่งก๊าซได้ 38,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ดังนั้นในปี 2566 นี้คาดว่าจะส่งก๊าซให้จีนเพิ่มเป็น 22,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 50% และคาดว่าปริมาณส่งก๊าซจะเต็มความจุท่อภายในอีก 2 ปี
วิเคราะห์ว่า รัสเซีย ใช้น้ำมันในประเทศราว 50% จากที่ผลิตได้ ที่เหลือส่งออกให้จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ก็แทบจะไม่พอขายแล้ว ชาติเหล่านี้กลั่นแล้วขายต่อให้สหรัฐ และสหภาพยุโรปอีกที
ส่วนก๊าซก็ส่งออกไปยังจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ตุรกี บัลแกเรีย ตะวันออกกลาง และเอเชีย ซึ่งนำเข้าไปขายต่อให้สหภาพยุโรป อีกทอดหนึ่ง ดังนั้นประชาชนในสหภาพยุโรป คือ ผู้ซื้อปลายทางน้ำมัน ก๊าซ ของรัสเซียข้างบ้าน แต่นำเข้าผ่านชาติยี่ปั้วอื่นๆ มาอีกที คว่ำบาตรอีกกี่ร้อยปีรายได้รัสเซียก็ไม่ลดลง ยอดส่งออกมีแต่เพิ่มขึ้นตามการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีน และโลก
แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนมาก คือ สหภาพยุโรป ใช้พลังงานแพงกว่าตอนซื้อตรงจากรัสเซีย ย่อมส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อค้างเติ่งไม่ยอมลดต่ำกว่า 10% ดันให้ค่าครองชีพที่อยู่อาศัยรายเดือน แพงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือน ในหลายชาติ เช่น อังกฤษ , กรีซ ฯลฯ
ส่วนรัสเซีย ไม่กระทบอะไรเลย รายได้ก็ไม่ลดลง แต่เงินเฟ้อ และค่าครองชีพกลับลดลงแทน รัฐจึงมีเงินมาจัดสรรเป็นสวัสดิการส่งผลให้พลเมืองไม่เดือดร้อนวุ่นวาย เหลือเงินใช้จ่ายและเงินออมสบายกระเป๋ากว่าชาวยุโรปแน่นอน”