สงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีนเข้มข้นขึ้นทุกขณะ ล่าสุดจีนสั่งตรวจสอบชิปนำเข้าจาก“ไมครอนเทคโนโลยี” บริษัทผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่สุดของสหรัฐฯ
หน่วยงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์ของจีน (Cyberspace Administration of China – CAC) แถลงเมื่อวันศุกร์ที่ ๓๑ มี.ค.ที่ผ่านมาว่า จะเริ่มดำเนินการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของ”ไมครอน” ในจีน เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแดนมังกร ถ้าพบว่าทำผิดอาจห้ามนำเข้าจีน
จีนกล้าสวนแปลว่าแข็งแรงพอ พวกพันธมิตรชิปโฟร์ที่ประกอบไปด้วย สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-ไต้หวัน ผวาเป็นแถวกะจะแบนให้เขาเจ๊งอาจเจ๊งเสียเองเพราะลูกค้ารายใหญ่เมิน ยิ่งมีข่าวจีนจะจับมืออินเดียและรัสเซียยกระดับสัมพันธ์ลึกซึ้งขึ้นเน้นเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ การค้าและอื่นๆอีกมากมาย
วันที่ ๔ เม.ย.๒๕๖๖ สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า หน่วยความมั่นคงทางไซเบอร์ของจีนที่มีชื่อว่า CAC เปิดเผยว่า “บริษัท ไมครอนเทคโนโลยี”เป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ต่างชาติรายแรก ที่ถูกจีนพิจารณาทบทวนในเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองบอยซี รัฐไอดาโฮ สหรัฐอเมริกา ผู้บริหารบริษัทฯกล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือในการสอบสวนอย่างเต็มที่
การสืบสวนของ หน่วยCACของจีน เกิดขึ้นในเวลาที่ไมครอนดูเหมือนจะมีช่องโหว่ จีนแผ่นดินใหญ่มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ ๑๐ ของยอดขายทั้งหมดของไมครอน ซึ่งทำให้จีนเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสามรองจากสหรัฐอเมริกาและไต้หวัน
หวัง ลี่ฝู นักวิเคราะห์ของไอซีไวส์ (ICwise analyst Wang Lifu) บริษัทวิจัยด้านเซมิคอนดักเตอร์ในเซี่ยงไฮ้มองว่า “ปักกิ่งกำลังส่งสัญญาณเตือนกลุ่มพันธมิตรชิปโฟร์ ( Chip 4 Alliance) ได้แก่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันในท่ามกลางสถานการณ์ ที่จีนกำลังถูกปิดกั้นตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทุกด้าน จากมาตรการจำกัดการส่งออกเครื่องมือสำหรับผลิตชิปและเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงไปยังจีน ซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้ริเริ่ม จีนมองว่า การจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรชิปโฟร์เป็นแผนรวมหัวกันกีดกันจีนจากห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการติดป้ายเตือนบริษัทผู้ผลิตชิปหน่วยความจำของเกาหลีใต้ที่ยังมีโรงงานผลิตอยู่ในจีน คือ “ ซัมซุงอิเล็กทรอนิสก์” และ“เอสเคไฮนิกซ์”ว่า อย่าทำตามคำสั่งวอชิงตัน”
สัญญาณเตือนนี้ยังส่งไปไกลถึงเนเธอร์แลนด์ ซึ่งรัฐบาลได้ทำข้อตกลงร่วมกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ในการจำกัดการส่งออกเครื่องมือผลิตชิปขั้นสูงบางประเภทไปจีน
หวังชี้ว่า ที่ผ่านมา จีนยังไม่เคยออกหมัดเด็ด ตอบโต้มาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ โดยอาศัยข้ออ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติเลย แต่ “ไมครอน” ถูกสอบสวนเป็นรายแรกก็เพราะรัฐบาลจีนมองว่า บริษัทมะกันรายนี้มีบทบาทในเชิงลบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีน โดยในปี ๒๕๖๐ บริษัทผลิตชิปของรัฐบาลจีนในมณฑลฝูเจี้ยนถูก“ไมครอน” กล่าวหาว่า ขโมยเทคโนโลยี ทำให้ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรและต้องระงับการผลิตไป
“ไมครอน” เองเคยระบุในรายงานด้านการเงินประจำปี ๒๕๖๔ ว่า ปักกิ่งสนับสนุนผู้ผลิตดีแรมในประเทศ ซึ่งอาจทำให้กิจการของ “ไมครอน” ไม่โต
นอกจากนั้น รัฐบาลจีนยังสงสัยว่า “ไมครอน” อาจอยู่เบื้องหลังการผลักดันให้รัฐบาลสหรัฐฯคว่ำบาตรจีน และเป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายหนึ่ง ที่วิ่งเต้นชนิดขาขวิด เพื่อให้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนเพิ่มเงินจัดตั้งกองทุนสำหรับการผลิตชิปในประเทศเป็นจำนวน ๕๒,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ โดยไม่กี่เดือนก่อนหน้าสหรัฐฯ จะตรากฎหมาย“ชิปและวิทยาศาสตร์” (CHIPS and Science Act) ในเดือนส.ค. ๒๕๖๕ บริษัทก็ประกาศแผนปิดศูนย์การออกแบบไดนามิกแรม หรือดีแรมในเซี่ยงไฮ้ในสิ้นปี ๒๕๖๕ พร้อมกับเสนอเงินให้วิศวกรชาวจีน ๑๕๐ คนย้ายไปทำงานที่สหรัฐฯ หรืออินเดียแทน
ทั้งนี้ ชิปของ “ไมครอน” ยังอาจหาจากผู้ผลิตในท้องถิ่นรายอื่น เช่น บริษัท แยงซี เมมโมรี เทคโนโลยีส์ หรือจากบริษัทของเกาหลีอย่างซัมซุง และเอสเคไฮนิกซ์ มาทดแทนได้ไม่ยาก ผิดกับอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์จากบริษัทอาเอสเอ็มแอล หรือหน่วยประมวลผลด้านกราฟิกของบริษัทอินวิเดีย ซึ่งจีนยังหาจากที่อื่นมาทดแทนไม่ได้
หวังยังระบุอีกว่า “การตรวจสอบของจีนยังมีขึ้นในขณะที่ “ไมครอน” กำลังอ่อนแอ จากการขาดทุนประจำไตรมาสครั้งเลวร้ายสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ซึ่งทำให้ต้องเร่งการเลิกจ้างพนักงาน และลดกำลังการผลิต ท่ามกลางความต้องการซื้อคอมพิวเตอร์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่ลดลงทั่วโลก”
บริษัทข้ามชาติรายอื่น ๆ ที่ทำธุรกิจในจีนกำลังจับตามองกระบวนการและผลการสอบสวน การพิจารณาทบทวนของซีเอซี ทำให้กฎระเบียบการทำธุรกิจในจีนมีข้อควรระมัดระวังและมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
นาง เฟิง ฉยง นักกฎหมายด้านเซมิคอนดักเตอร์ในกรุงปักกิ่ง(Beijing-based semiconductor lawyer Feng Qiong)ประเมินว่า “ถ้ากรณีของ ‘ไมครอน’ มีความซับซ้อน การสอบสวนอาจใช้เวลานานกว่า ๓๐ วันกว่าจะเสร็จสิ้น โดยอ้างตามมาตรการพิจารณาทบทวนความมั่นคงไซเบอร์ของจีน
นายหวังแห่งไอซีไวส์ ระบุว่า “การสั่งปรับอาจเป็นการเตือนอย่างนุ่มนวลที่สุด แต่ถ้า “ไมครอน” ยังไม่สำนึกผิด หรือแก้ไขปรับปรุง ขั้นตอนต่อไปก็อาจเป็นการจำกัดการนำเข้า หรือห้ามการเข้าตลาดจีนไปเลยก็เป็นได้ การสั่งสอบสวนผลิตภัณฑ์ของ “ไมครอน” สะท้อนให้เห็นทัศนคติของรัฐบาลจีน ที่พร้อมเปิดตลาดแก่นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุน แต่ถ้านักลงทุนทำผิดก็จะถูกลงโทษอย่างเฉียบขาดด้วยเช่นกัน”