มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ การเข้าถึงสวัสดิการสังคมอย่างเท่าเทียม

0

ความสำคัญของเด็กปฐมวัย ปฐมวัยเป็นวัยเริ่มต้นของชีวิตและพัฒนาการในทุกด้าน เป็นช่วงวัยที่พัฒนาการทางด้านต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุดและเป็นฐานรากที่สำคัญสำหรับพัฒนาการในช่วงวัยต่อ ๆ ไป เด็กในวัยนี้จึงเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของประเทศ

เด็กปฐมวัยที่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยจะสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพและจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต ดังนั้น การพัฒนาเด็กปฐมวัยจึงเป็นรากฐานที่มีผลต่อคุณภาพและประสิทธิภาพของคน ตลอดชีวิตและเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด กล่าวคือ เด็ก เยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี มีความสามารถเรียนรู้ ทำงานได้เก่ง และเป็นพลเมืองดีที่จะนำสู่ความสำเร็จในสังคมที่ท้าทายในศตวรรษที่ ๒๑

มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นมาตรฐานกลางของประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ใช้เป็นแนวทางในการประเมินผลการดำเนินงานและยกระดับคุณภาพการจัดบริการและความต่อเนื่องของการพัฒนาเด็กปฐมวัย สอดคล้องมาตรฐานคุณภาพปฐมวัยอาเซียน รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือประกันคุณภาพภายใน เพื่อรองรับการตรวจประเมินจากต้นสังกัด และประกันคุณภาพภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)

มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ประกอบด้วยมาตรฐาน ๓ ด้าน ได้แก่

  • มาตรฐานด้านที่ ๑ การบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย / จำนวน ๕ ตัวบ่งชี้/ ๒๖ ข้อ

ตัวบ่งชี้ที่ ๑.๑ การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

ตัวบ่งชี้ที่ ๑.๒ การบริหารจัดการบุคลากรทุกประเภทตามหน่วยงานที่สังกัด

ตัวบ่งชี้ที่ ๑.๓ การบริหารจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย

ตัวบ่งชี้ที่ ๑.๔ การจัดการเพื่อส่งเสริมสุขภาพและการเรียนรู้

ตัวบ่งชี้ที่ ๑.๕ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน

  • มาตรฐานด้านที่ ๒ ครู/ผู้ดูแลเด็กให้การดูแล และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และการเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย / จำนวน ๕ ตัวบ่งชี้/ ๒๐ ข้อ

ตัวบ่งชี้ที่ ๒.๑ การดูแลและพัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน

ตัวบ่งชี้ที่ ๒.๒ การส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและดูแลสุขภาพ

ตัวบ่งชี้ที่ ๒.๓ การส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา ภาษาและการสื่อสาร

ตัวบ่งชี้ที่ ๒.๔ การส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ-สังคม ปลูกฝังคุณธรรมและความเป็นพลเมืองดี

ตัวบ่งชี้ที่ ๒.๕ การส่งเสริมเด็กในระยะเปลี่ยนผ่านให้ปรับตัวสู่การเชื่อมต่อในขั้นถัดไป

  • มาตรฐานด้านที่ ๓ คุณภาพของเด็กปฐมวัย

– ๓ ก แรกเกิด ถึง ๒ ปี (๒ ปี ๑๑ เดือน ๒๙ วัน) จำนวน ๒ ตัวบ่งชี้/๗ ข้อ

ตัวบ่งชี้ที่ ๓.๑ ก เด็กมีการเจริญเติบโตสมวัย

ตัวบ่งชี้ที่ ๓.๒ ก เด็กมีพัฒนาการสมวัย

– ๓ ข ๓ ปี ถึง ๖ ปี (ก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที ๑) จำนวน ๗ ตัวบ่งชี้/ ๒๒ ข้อ

ตัวบ่งชี้ที่ ๓.๑ ข เด็กมีการเจริญเติบโตสมวัยและมีสุขนิสัยที่เหมาะสม

ตัวบ่งชี้ที่ ๓.๒ ข เด็กมีพัฒนาการสมวัย

ตัวบ่งชี้ที่ ๓.๓ ข เด็กมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว

ตัวบ่งชี้ที่ ๓.๔ ข เด็กมีพัฒนาการด้านอารมณ์จิตใจ

ตัวบ่งชี้ที่ ๓.๕ ข เด็กมีพัฒนาการด้านสติปัญญา เรียนรู้และสร้างสรรค์

ตัวบ่งชี้ที่ ๓.๖ ข เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร

ตัวบ่งชี้ที่ ๓.๗ ข เด็กมีพัฒนาการด้านสังคม คุณธรรม มีวินัยและความเป็นพลเมืองดี

การขับเคลื่อนมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ของกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการจัดบริการสาธารณะ ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการนำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติใช้เป็นมาตรฐานกลางในการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๖๒ และโรงเรียนที่จัดการศึกษาปฐมวัย ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๖๓ รวมทั้งการจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา สอดคล้องกับกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ดังนี้

๑. เตรียมพร้อม ศึกษาและสร้างความเข้าใจมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการการพัฒนาตามตัวบ่งชี้ของมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ

๒. กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ และกำหนดเป้าหมายความสำเร็จตามมาตรฐานของสถานศึกษาตามบริบท

๓. จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นของสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยสะท้อนคุณภาพความสำเร็จอย่างชัดเจนตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา

๔. ดำเนินการตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา

๕. ประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา โดยกำหนดผู้รับผิดชอบ และวิธีการที่เหมาะสม

๖. ติดตามผลการดำเนินการเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพ ตามมาตรฐานของสถานศึกษา และนำผลการติดตามไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพัฒนา

๗. จัดทำรายงานผลการประเมินตนเอง (Self – Assessment Report : SAR) ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติจัดส่งให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นสังกัด บันทึกข้อมูลและประเมินตนเองในระบบฐานข้อมูลสารสนเทศการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานชาติ เป็นประจำทุกปี รวมถึงให้ความร่วมมือกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ในการประเมินคุณภาพภายนอกตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑

๘. พัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพ โดยพิจารณาจากผลการประเมินตนเอง คำแนะนำจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นสังกัด ข้อเสนอแนะจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานและเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ

ทั้งนี้ การพัฒนาอย่างรอบด้านในช่วงปฐมวัย รัฐและทุกภาคส่วน พ่อแม่ผู้ปกครอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ครู/ผู้ดูแลเด็ก สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของเด็กปฐมวัย ตระหนักในพันธกิจและลงมือช่วยกันทำให้เด็กปฐมวัยมีโอกาสพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ตามวัยและต่อเนื่อง และสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน

https://www.youtube.com/watch?v=xGHw5YV_hBg