โลกตกตะลึงกับการประท้วงครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษของอิสราเอล ชาวยิว กว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนจากทั่วประเทศ ร่วมกันชุมนุมประท้วงรัฐบาลเนทันยาฮู เมื่อประชากรในเมืองหลวงกรุงเทลาวีฟมี ๔๓๓,๐๐๐ คน นั่นหมายความว่าผู้คนในเมืองมาร่วมประท้วงเกืองหมดเมืองเข้าไปแล้วเพราะมีมาจากนอกเมืองด้วย
ก่อนหน้านี้ วีไอพีของสหรัฐฯมาเยือน คนวงในกองทัพอิสราเอลเผยว่า มาร์ค มิลลี่ ประธานเสนาธิการกองทัพมะกันเยือนอิสราเอลและกล่าวกับเจ้าหน้าที่ของอิสราเอลว่า “ถ้าพวกคุณ ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ประท้วงให้สงบได้ ก็อย่าเพิ่งมาคุยกับเราเรื่องภัยคุกคามของอิหร่าน, การส่งระบบ S400 จากรัสเซียให้อิหร่าน, การที่อิหร่านกำลังเข้าใกล้เทคโนโลยีสร้างระเบิดนิวเคลียร์ รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านด้วย” เล่นเอาเจ้าหน้าที่ไปไม่เป็น
จนท.ทหารฝ่ายอิสราเอลเล่าอย่างขุ่นเคืองว่า “เราไม่เคยได้ยินคำพูดลักษณะนี้จากปากของพันธมิตรอย่างสหรัฐมาก่อนเลย”
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าในการชุมนุมประท้วงรัฐบาลอิสราเอลช่วงนี้ มีเจ้าหน้าที่หน่วยราชการลับอิสราเอลอย่าง มอสสาด (Mossad) และ ชินเบท( Shin Bet) เข้าร่วมด้วย ซึ่งตามกฎหน่วยงานสืบราชการลับอิสราเอล เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเด็ดขาด การที่เริ่มมี จนท.เข้าร่วมการต่อสู้กับรัฐบาล เป็นสัญญาณว่าวิกฤติการเมืองรอบนี้ของอิสราเอลหยั่งรากลึกและรุนแรงจริงๆ
ก่อนหน้านี้ก็มีทหารหลายดื้อแพ่งเข้าร่วมประท้วงอย่างเปิดเผย เช่นทหารในกองทัพอากาศ นักบินเครื่องบินรบปฏิเสธฝึกบิน ผบ.ตำรวจถูกปลดฟ้าผ่าฐานไม่ปราบผู้ชุมนุมตามคำสั่งรัฐบาล อิสราเอลไม่มีพรมแดนติดอิหร่าน กองทัพบกจึงไม่มีบทบาทในการบุก ขณะเดียวกัน กองทัพเรืออิสราเอลก็ถือว่าอ่อนแอ และไม่สามารถจะใช้บุกอิหร่านได้เพราะจะติดกับดักอิหร่านที่ช่องแคบฮอร์มุซ มีเพียงกองทัพอากาศที่เป็นเขี้ยวเล็บสำคัญที่เคยพลิกสงครามเอาชนะอาหรับในสงคราม ๖ วันมาแล้ว แต่วิกฤติการเมืองที่ลามไปถึงกองทัพอากาศครั้งนี้มีผลต่อการเผชิญหน้ากับฝ่ายอิหร่านในอนาคตแน่นอน
รอยร้าวในสังคมอิสราเอลดูท่าจะไม่สมานได้ง่ายๆ จะสงบลงก็ต่อเมื่อเนทันยาฮูยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าเนทันยาฮูคงไม่ยอมปล่อยชิ้นปลามันที่ได้มาด้วยความยากลำบากนี้แน่นอน หากวิกฤติบานปลาย เนทันยาฮูต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งว่ายอมลาออก และเลือกตั้งใหม่ หรือไม่ยอมลาออก แต่จะเบนความสนใจชาวยิวด้วยการก่อสงครามกับเพื่อนบ้านอย่างซีเรีย-ปาเลสไตน์หนักขึ้น
ฟางเส้นที่ทำให้ลาหลังหัก คือการที่เนทันยาฮูผลักดันกฎหมายลดอำนาจตุลาการ นักวิเคราะห์มองว่า นายกอิสราเอลพยายามลดอำนาจศาลสูงเพื่อให้ตนเองรอดจากคดีคอรัปชั่นที่ติดตัวมานับสิบปี
วันที่ ๑๖ มี.ค.๒๕๖๖ สำนักข่าวมิดเดิลอีสต์อาย รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการปะทะกันภายในรุนแรงเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามกลางเมือง
สงครามกลางเมืองกลายเป็นวาทกรรมร้อน ของชาวอิสราเอลในปัจจุบัน และไม่ได้เป็นเพียงคำพูดอุปมาอุปไมยเท่านั้น แต่เป็นการแสดงความวิตกกังวลอย่างท่วมท้นและเป็นประวัติการณ์อย่างที่ชาวอิสราเอลไม่เคยประสบมาก่อน ชาวอิสราเอลจำนวนมาก ความรู้สึกความเป็นพี่น้องได้หายไปและถูกแทนที่ด้วยความเกลียดชัง การเหยียดหยาม และความสยดสยองอย่างเปิดเผย
เป็นเวลากว่าสองเดือนแล้วที่ชาวอิสราเอลหลายแสนคนเข้าร่วมการประท้วงทุกสัปดาห์และหยุดงานประท้วงต่อการเปลี่ยนแปลงระบบศาลซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็นเครื่องมือของ “การปฏิรูป” และเป็นการทำรัฐประหารต่อฝ่ายตรงข้าม การผลักดันโดยรัฐบาลหัวรุนแรงฝ่ายขวาจัดที่ประกาศตัวเป็นไซออนนิสตฺ์ของประเทศ สามารถทำลายการตรวจสอบและถ่วงดุลของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ประเทศเคลื่อนตัวไปสู่อำนาจเผด็จการอย่างเต็มที่ ยิ่งรัฐบาลปราบปรามขัดขวางการประท้วง มีการปะทะกันมากขึ้น ความขุ่นเคืองก็ทวีความรุนแรงขึ้นทั้งสองฝ่าย
การสำรวจที่เผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จัดทำโดยสถาบันประชาธิปไตยอิสราเอลพบว่า หนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่ สงครามกลางเมืองที่รุนแรงน่าจะปะทุขึ้น ในหมู่ผู้ประท้วงมีความเห็นเหมือนกันมากกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์
ผู้ประท้วงเปรียบเทียบรัฐบาลกับพวกเผด็จการสุดโต่งขณะที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู เรียกผู้ประท้วงว่า “พวกอนาธิปไตย”
ในการประท้วงครั้งใหญ่ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตำรวจยังได้เปลี่ยนกลยุทธ์ในการควบคุมฝูงชน ผู้เข้าร่วมถูกสลายอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ขี่ม้า ช็อตระเบิดมือ และปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมหลายสิบคน
ศาสตราจารย์แกด บาร์ซิไล (Gad Barzilai) แห่งมหาวิทยาลัยไฮฟา (Haifa) ได้ทำการวิจัยอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับตัวชี้วัดของสงครามกลางเมือง เขาคาดการณ์ว่าอิสราเอลอาจจะกำลังมุ่งหน้าไปทางนั้นในตอนนี้ เขาระบุว่า “ผู้คนมีภาพลักษณ์ที่ผิดว่าสงครามกลางเมืองจะต้องเป็นอย่างไร” “มันไม่ใช่ภาพวาดของผู้คนที่สังหารกันด้วยมีดหรือขวานหรือปืน มันสามารถมีรูปแบบที่แตกต่างกันได้”
สิ่งสำคัญที่สุดคือปัญหาทางการเงินซึ่งรู้สึกได้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกำลังกว้างขึ้นในอิสราเอล ในสังคมที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวยิวมิซราฮี (Mizrahi) เชื้อสายตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ และชาวยิว แอชเคนาซ(Ashkenazi) เชื้อสายยุโรป ปัญหาทางเศรษฐกิจอาจกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น ซ้ำเติมปัญหาทางการเมืองที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจน วิกฤติครั้งนี้อันตรายของสงครามกลางเมืองไม่ได้มาจากรากหญ้า แต่มาจากผู้มีอำนาจที่แข่งขันกัน!!