จากเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 สื่อต่างประเทศรายงานถึงการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ได้ลงมติญัตติประณามรัสเซียที่รุกรานยูเครน ท่ามกลางการจับตาว่าประเทศไทยมีท่าทีอย่างไรนั้น
ทั้งนี้สื่อต่างประเทศรายงานถึงญัตติดังกล่าว ได้เรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครน และยุติการสู้รบ โดยไทยเป็น 1 ใน 141 ชาติที่เห็นชอบกับญัตติดังกล่าว ส่วน 32 ชาติงดออกเสียง และ 7 ประเทศรวมถึงรัสเซียที่ไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ตามแม้ว่ามติดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนจากชาติสมาชิกส่วนใหญ่ แต่ก็มีชาติงดออกเสียงที่น่าสนใจ จีน อินเดีย อิหร่าน และแอฟริกาใต้ อยู่ในกลุ่ม 32 ประเทศที่งดออกเสียง ส่วน 7 ประเทศที่โหวตไม่เห็นด้วย ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส เกาหลีเหนือ เอริเทรีย มาลี นิการากัว และซีเรีย
ล่าสุดวันนี้ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ นักวิชาการทางบูรพคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่าน Blockdit ถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า
“เมื่อวานนี้ สหประชาชาติที่อยู่ภายใต้การบงการของอเมริกาจัดประชุมโหวตให้สมาชิกลงความเห็นอีกแล้วว่ารัสเซียสมควรออกไปจากยูเครนหรือไม่?
ประเด็นคือไทยเราก็โหวตให้ รัฐบาลรัสเซียออกไปด้วย ในขณะที่ประเทศศรีลังกา งดแสดงความคิดเห็นคืองดออกเสียง
ความจริง รัฐบาลไทยเราควรจะงดแสดงความคิดเห็นนะครับ เพราะรัสเซียมีเหตุผลที่ส่งทหารไปปฏิบัติการในยูเครน อเมริกานั่นแหละควรจะออกไปจากยูเครนเสีย เพราะอเมริกาเข้าไปได้โดยใช้วิธีไล่รัฐบาลยูเครนเก่าที่มาจากการเลือกตั้งออก แต่งตั้งหุ่นเชิดตนเองเข้าไป แล้วขนอาวุธไปจ่อรัสเซีย จึงสมควรจะต้องออกไปจากยูเครน
ไม่เพียงเท่านั้น อเมริกาควรต้องถอนทหารออกไปจากซีเรีย ต้องออกไปจากเยเมน ต้องเลิกสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย Isis-K ในอาฟกานิสถาน ต้องออกไปจากหลายๆ ประเทศในอาฟริกา ฯลฯ ด้วย ผมคิดว่ายุคนี้การทูตไทยคงอยู่ในฐานะลูกน้องอเมริกา ไม่ดีกว่านี้แน่ครับ”
นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 143 ประเทศ จาก 193 ประเทศ ลงมติเห็นชอบญัตติประณามความพยายามของรัสเซียในการผนวกดินแดน 4 แคว้นของยูเครน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
มีเพียง 4 ประเทศ ที่ค้านมติดังกล่าว ได้แก่ ซีเรีย นิการากัว เกาหลีเหนือ และเบลารุส โดย 35 ประเทศงดออกเสียง ในจำนวนนี้รวมถึง จีน
ต่อมา เฟซบุ๊กของการกระทรวงการต่างประเทศไทยเผยแพร่ถ้อยแถลงของนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ต่อการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 11 ถึงการลงมติงดออกเสียงต่อกรณียูเครนว่า
ประเทศไทยเลือกงดออกเสียง เนื่องจากว่า มติดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงบรรยากาศที่มีความอ่อนไหวและกำลังมีสถานการณ์ที่ผันผวนและปะทุขึ้นมาได้