สวนกระแสโลก!! อาคมยันฐานะการคลังไทยแกร่ง รัฐ-เอกชนดันศก.ฟื้น กูรูฟันธงตลาดสดใสส่งออกเจาะเพื่อนบ้าน

0

ท่ามกลางโลกผันผวนที่ส่อเค้าจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายภูมิภาค กระทรวงการคลัง-ธปท.ตลาดหลักทรัพย์ และภาคเอกชน ประกาศร่วมมือกันฝ่าคลื่นเศรษฐกิจปี 2566นี้  ด้านก.คลังชี้เศรษฐกิจปีนี้โต 3-4% แต่จะเป็นลักษณะ K-Shaped เศรษฐกิจจะไปต่อได้ต้องเร่งรัดลงทุน แนะส่งออกเจาะตลาดเพื่อนบ้าน ยันฐานะการคลังแกร่ง มีช่องให้กู้เงินรับวิกฤติรอบใหม่ ด้านกูรูจากภาคเอกชนและตลาดหลักทรัพย์ฯฟันธงเศรษฐกิจยังฟื้นต่อ ดอกเบี้ยทยอยขึ้น ตลาดทุนยังคงสดใส

วันที่ ๑๖ ก.พ.๒๕๖๖ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆฟื้นตัว โดยธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเกินความคาดหมาย ขณะที่ภาคการส่งออกชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ภาคส่งออกต้องให้ความสำคัญในการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน การหาตลาดใหม่ๆ รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้ส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยยอดส่งออกที่หายไปจากภาวะถดถอยทั่วโลก”

รมว.คลังกล่าวยืนยันว่า “กระทรวงการคลัง และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในกรอบ 3-4% โดยเศรษฐกิจไทยจะไม่ฟื้นตัวแบบ U-Shaped หรือ V-Shaped แต่จะเป็นลักษณะ K-Shaped ที่เติบโตแบบช้าๆ มั่นคงและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม จะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมมาตรการไว้รองรับ”

นายอาคม กล่าวต่อว่า ฐานะการคลังยังแข็งแกร่งจากการขยายเพดานเงินกู้ ส่งผลให้ไทยยังมีพื้นที่ทางการคลัง และมีช่องว่างกู้เงินเพิ่มเติมได้ถึง 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ถ้าเกิดวิกฤติและต้องหาเงินช่วยเหลือโดยไม่เสียวินัยทางการคลัง ประกอบกับหนี้ต่างประเทศของไทยมีสัดส่วนน้อยกว่าเงินกู้ในประเทศ ส่งผลให้ฐานะการเงินการคลังของไทยยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 60.67% ต่อจีดีพี ถือว่าเป็นเกณฑ์ระดับปลอดภัย ด้านนโยบายการเงิน และการคลัง ต้องสอดประสานกัน โดยการดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อต้องดูการฟื้นตัวเศรษฐกิจด้วยไม่สร้างต้นทุนให้ธุรกิจมากเกินไป และไม่สร้างต้นทุนให้ครัวเรือน ซึ่งเป็นหนี้สินอยู่แล้ว

“สิ่งที่อยากจะย้ำในปีนี้ คือ ตัวที่จะทำให้เศรษฐกิจไปได้ คือ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานควรเร่งดำเนินการ เพราะปีที่ผ่านมาอัตราการลงทุนของไทยค่อนข้างช้า ส่งผลกระทบต่อแรงงานไม่สามารถเข้าทำงานได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ต้องเร่งลงทุน”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะเริ่มทยอยฟื้นตัว “การส่งออกสินค้าจะขยายตัวอย่างน้อย 1-2% ขณะที่ภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์จะร่วมทำงานเชิงรุกเจาะตลาดการส่งออกสินค้าไทยให้มากขึ้น เช่น ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงการเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศใหม่ๆมากขึ้น

สำหรับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้จะมาจากภาคการท่องเที่ยว คาดว่า ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 30 ล้านคน จะทำให้การจ้างงานดีขึ้นด้วย โดยมองว่ารัฐบาลจะต้องมีงบประมาณโปรโมตให้ชาวจีนที่กำลังจะเข้ามาเที่ยวไทยในไตรมาส 2 นี้ ทำให้จะเกิดการจับจ่ายใช้สอยและสร้างรายได้ให้กับประเทศ เกิดการจ้างงานและการลงทุนที่จะต้องเริ่มดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนทางตรง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว และอีกสิ่งสำคัญคือจะช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเงินทุนและมาตรการภาครัฐ โดยได้หารือกับอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ถ้าตกลงกันได้ที่จะช่วยเอสเอ็มอีในเรื่องภาษี ก็จะมีส่วนช่วยการจ้างงานในภาคเอสเอ็มอีได้ถึง 2-3 ล้านคน

“หอการค้าฯจะร่วมกับภาครัฐจัดเดินสายเจรจากับจีนให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เศรษฐกิจไทยมีมุมมองให้จีนนั้นหลงใหล จีนเริ่มลงทุนในไทยมากขึ้น จนญี่ปุ่นอิจฉาและหลังจากการเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่จะต้องทำงานใกล้ชิดเอกชนมากขึ้น โดยต้องมีแรงจูงใจเรื่องความสะดวกในการทำธุรกิจและการลงทุนเพิ่มเติม”

 

ด้านจุดแข็งของตลาดทุนไทยปี 66 : นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นวิกฤติที่ไม่เคยเจอ ทั้งโควิด-19 และยูเครนกับรัสเซีย หรือสภาพคล่องลดลง รวมถึงดอกเบี้ยสูง มีปัจจัยต่างๆ ทำให้กระทบเศรษฐกิจ ตลาดทุนทั่วโลก โดยในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้มากกว่าปีที่แล้ว และนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นเห็นได้จากเดือน ม.ค.2566 แค่เดือนเดียวมีเงินไหลเข้ามา 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตอนนี้เงินบาทแข็งค่า 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับ 38 บาทต่อเหรียญฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในด้านตลาดทุนอุตสาหกรรมที่จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยคือการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอาหาร การท่องเที่ยว การลงทุนที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจใหม่ สำหรับการสนับสนุนตลาดทุนไทย ตลท.ได้ปรับปรุง 2 เรื่อง คือ ให้ภาคธุรกิจระดมทุนได้ตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก จากเดิมเป็นแค่ขนาดใหญ่กับขนาดกลาง และเริ่มมีกระดานเทรดใหม่ระดมทุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงง่ายมากขึ้น เช่น LiVE Exchange เป็นต้น