ไฟเขียวฉลุย!! ครม.อนุมัติค่าเหยียบแผ่นดิน ทางบก-ทะเล-อากาศ นักท่องเที่ยวต่างชาติจ่ายหัวละ ๑๕๐-๓๐๐ บาท

0

ครม.เห็นชอบเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” หรือค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จ่าย 150-300 บาท เริ่ม 1 มิถุนายน 2566 นี้

หลังมีการเร่งผลักดันอยู่นานสำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” โดย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดเตรียมรายละเอียดเสนอให้รัฐบาลเห็นชอบ หลังจากคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) มีมติเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว 

วันที่ ๑๔ ก.พ.๒๕๖๖ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2566) ที่ประชุมได้รับทราบมติ ท.ท.ช. โดยให้สามารถเก็บค่าเหยียบแผ่นดินกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้คาดว่าจะเริ่มต้นได้ตามเป้าหมาย วันที่ 1 มิถุนายน 2566 นี้

“ครม.เห็นชอบเรียบร้อย โดยการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินครั้งนี้ จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาจากการเก็บข้อมูลในปี 2560-2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปใช้บริการในสถานพยาบาลของรัฐ และต้องใช้งบประมาณรัฐเข้าไปดูแลมากถึง 300-400 ล้านบาท” 

ค่าเหยียบแผ่นดิน คืออะไร “ค่าเหยียบแผ่นดิน” หรือ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เป็นการเรียยกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเครื่องบิน หรือ เดินทางผ่านด่านช่องทางบก และช่องทางน้ำ โดยจะออกเป็นประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ประกอบด้วย

  1. การเก็บค่าธรรมเนียมทางอากาศยาน (เครื่องบิน)
  2. การเก็บค่าธรรมเนียมทางบก และทางน้ำ

 

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมทางเครื่องบิน : นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยเครื่องบิน ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตราคนละ 300 ต่อคนต่อครั้ง 

โดยให้ทางสายการบินมีหน้าที่ดำเนินการ รวมทั้งจัดเก็บค่าธรรมเนียม โดยให้จัดเก็บรวมกับค่าโดยสาร และให้แสดงอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บไว้ในบัตรโดยสาร หรือเอกสารอย่างอื่น พร้อมทั้งนำส่งบัญชีรายชื่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เป็นผู้โดยสารขาเข้าก่อนจะออกเดินทางจากสนามบินประเทศต้นทาง

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมทางบก และทางน้ำ : นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยผ่านด่านช่องทางบก ช่องทางน้ำ ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตราคนละ 150 ต่อคนต่อครั้ง (เก็บเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เข้าเมืองโดยใช้พาสปอร์ต) 

การเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน จัดเก็บทั้งจากเดินทางทางบก-เรือและอากาศ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมทางเครื่องบิน : ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย ผู้ควบคุมและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบิน ทารกและเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี และบุคคลอื่น ตามที่คณะกรรมการกำหนด 

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมทางบก และทางน้ำ : ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมกับบุคคลต่าง ๆ คือ ผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย ผู้ที่มีบัตรผ่านแดนชั่วคราว ข้าราชการที่ต้องเดินทางเข้าออก และแรงงานที่เดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับ 

ค่าเหยียบแผ่นดิน หรือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวของประเทศต่างๆปัจจุบันมีการจัดเก็บอยู่แล้วกว่า 40 ประเทศ ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้คือ:

-มาเลเซีย จัดเก็บ Tourist  Tax อัตรา 2.45 ดอลลาร์สหรัฐ / คน

-อินโดนีเซีย (บาหลี) จัดเก็บ departure Tax/ local development Tax อัตรา 10 ดอลลาร์สหรัฐ/คน

-ญี่ปุ่น จัดเก็บ Sayonara Tax ตั้งแต่มกราคม 2562 อัตรา 9.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน หรือประมาณ  1,000 เยน (290 บาท) เก็บรวมไว้กับค่าโดยสารเครื่องบินและค่าโดยสารทางเรือของผู้โดยสารต่างชาติทุกคนเมื่อทำการจองตั๋ว 

-ภูฏาน จัดเก็บ Tourist Tax  อัตรา 200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 250 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน ( 8,300 บาท) ตั้งแต่เดือนมีนาคม – พฤษภาคม และกันยายน – พฤศจิกายน (ฤดูท่องเที่ยว) 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อวัน ( 6,640 บาท) ตั้งแต่เดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ และมิถุนายน – สิงหาคม (นอกฤดูท่องเที่ยว) 

-ฝรั่งเศส จัดเก็บ Taxe de se’jour เฉลี่ย 5.71 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน(หลายอัตรา ขึ้นอยู่กับสถานที่)

-เยอรมัน จัดเก็บ Culture Tax และ Bed Tax เฉลี่ย 5.71 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน (หรือ 5%ของค่าโรงแรม)

-กรีซ จัดเก็บ Stayover Tax อัตรา 4.57 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน

-สวิสเซอร์แลนด์ จัดเก็บ Tourist Tax  อัตรา 2.85 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน (แตกต่างกันไปตามประเภทของที่พัก)    

-สหรัฐอเมริกา จัดเก็บ Occupancy Tax 16.25% ของค่าโรงแรมและที่พักแตกต่างกันตามรัฐ

-นิวซีแลนด์ จัดเก็บ Tourist Tax  อัตรา 23.94 ดอลลาร์สหรัฐ/คน