จากที่นายกรัฐมนตรี จอร์เจีย เมโลนี แห่งอิตาลี ตำหนิ ฝรั่งเศสบ่อนทำลายเอกภาพสหภาพยุโรป (อียู)ในประเด็นยูเครน เนื่องจากประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง เชิญเซเลนสกี้ รับประทานอาหาร โดยไม่มีผู้นำยุโรปอื่นๆร่วมวงนั้น
ทั้งนี้สื่อต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 นาย ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี ได้ออกมาระบุว่า หากตนยังคงเป็นผู้นำอิตาลีอยู่ก็จะไม่ขอพบปะเสวนากับประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ แห่งยูเครน พร้อมทั้งกล่าวโทษ เซเลนสกี้ เป็นต้นเหตุที่ทำให้ยูเครนต้องเผชิญความสูญเสียในสงครามกับรัสเซีย
สำหรับ แบร์ลุสโกนี เป็นหัวหน้าพรรคสายอนุรักษนิยม Forza Italia และเป็นที่รู้กันว่าสนิทสนมกับประธานาธิบดี วลาดีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เคยเรียกเสียงวิจารณ์อย่างหนักเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว หลังออกมาพูดในทำนองว่า ปูติน ถูกบีบให้ต้องทำสงครามเพื่อสรรหา คนดีๆ มาปกครองเคียฟ
“ผมไม่มีทางยอมคุยกับ เซเลนสกี้ เด็ดขาด เพราะเราก็ได้เห็นแล้วว่าประเทศของเขาถูกทำลาย และมีทหารและพลเรือนถูกเข่นฆ่าไปมากขนาดไหน” แบร์ลุสโกนี วัย 86 ปี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว หลังเดินทางไปหย่อนบัตรเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่แคว้นลอมบาร์เดีย
นอกจากนี้ แบร์ลุสโกนี ยังกล่าวว่า ถ้า เซเลนสกี้ หยุดโจมตีสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ และลูฮันสก์ซึ่งเป็นเขตยึดครองของพวกกบฏในดอนบาสตั้งแต่แรก สงครามก็จะไม่เกิดขึ้น
“ดังนั้น ผมจึงประเมินพฤติกรรมของสุภาพบุรุษคนนี้ว่าติดลบแบบสุดๆ” แบร์ลุสโกนี กล่าว
นอกจากนี้ อดีตนายกฯ อิตาลียังเรียกร้องให้สหรัฐฯ กดดัน เซเลนสกี้ โดยการขู่จะหยุดส่งอาวุธให้ยูเครน และให้สัญญามอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขนานใหญ่ แลกกับการที่เคียฟต้องทำข้อตกลงหยุดยิงทันที
ด้านสำนักงานของนายกฯ เมโลนี ยืนยันว่า การสนับสนุนที่รัฐบาลอิตาลีมีต่อยูเครนนั้น มั่นคงและเชื่อถือได้
ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ อันโตนิโอ ทาจานี ซึ่งเป็นสมาชิกพรรค Forza Italia ก็ทวีตข้อความว่า พรรคของเขา “ยืนหยัดเพื่อเอกราชของยูเครนเสมอ และพร้อมจะยืนอยู่ข้างยุโรป นาโต และตะวันตก”
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 บีบีซี รายงานว่า อดีตนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ของอิตาลี วัย 85 ปี ให้สัมภาษณ์กับสื่อโทรทัศน์ของอิตาลี ปกป้องการบุกยูเครนของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ระบุว่า ผู้นำรัสเซียถูกหลายฝ่ายกดดันจนกระทั่งถลำเข้าสู่สงครามกับยูเครน