จากเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 สื่อต่างประเทศรายงาน ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ แห่งยูเครน กล่าวถึงผู้นำสหภาพยุโรปที่ประชุมซัมมิต โดยอ้างว่าจะจัดหาเครื่องบินรบมอบให้แก่เคียฟนั้น
ต่อมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 สื่อต่างประเทศยังรายงานถึง ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ที่กล่าวกรณีเดียวกันแม้ว่าประเทศพันธมิตรของยูเครนในยุโรปจะตัดสินใจจัดหาเครื่องบินขับไล่ให้ยูเครนก็ไม่ได้หมายความว่า เครื่องบินจะสามารถส่งมอบได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์
ล่าสุดวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ประธานาธิบดีอันด์เซจ์ ดูดา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีการส่งมอบเครื่องบิน F-16 จะเป็น “การตัดสินใจที่จริงจังมาก” และ “ไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่าย” แม้ได้พบปะกับพูดคุยประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ ระหว่างที่ผู้นำเคียฟเดินทางไปทั่วยุโรป
ทั้งนี้ ดูดา ระบุว่าโปแลนด์มีเครื่องบินรบในกองทัพอากาศเกิน 50 ลำแค่เล็กน้อย ซึ่งทำให้การตัดสินใจมอบเครื่องบิน F-16 แก่ยูเครน จึงเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน “เรามีไม่พอ และเราต้องการพวกมันอีกมาก” ดูดากล่าว พร้อมบอกว่าเครื่องบินเหล่านี้ยังจำเป็นต้องเข้ารับการบำรุงรักษาอย่างจริงๆ จังๆ ดังนั้น มันจึงไม่เพียงพอแม้กระทั่งเป็นการส่งมอบไม่กี่ลำก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่ยากลำบากดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ทำเนียบขาวแถลงว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางไปโปแลนด์ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ในวาระครบรอบ 1 ปีรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน และพบปะกับดูดา และพันธมิตรอื่นๆ ของยูเครน
ขณะที่ จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “เขาต้องการพูดคุยเกี่ยวกับความสำคัญของความมุ่งมั่นและความเป็นอันหนึ่งเดียวกันของประชาคมนานาชาติในการสนับสนุนยูเครน ซึ่งเวลานี้กำลังครบ 1 ปีเต็มแล้ว”
สหรัฐฯ ยังไม่รับปากส่งมอบเครื่องบินรบ F-16 ให้แก่ยูเครน แต่ระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในวอชิงตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้เรื่องดังกล่าว แม้ก่อนหน้านั้นไม่นาน ไบเดน เพิ่งบอกว่าอเมริกาจะไม่จัดหาเครื่องบินรบแก่เคียฟ
“อเมริกาจะเดินหน้าพิจารณาเกี่ยวกับสิ่งที่เราคิดว่ายูเครนต้องการและสิ่งที่พวกเขาสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด” บลิงเคนกล่าว ขณะที่พันธมิตรตะวันตกอื่นๆ ก็เหมือนจะลังเลเช่นกัน หรือบางส่วนบอกว่าการจัดหาเครื่องบินขับไล่นั้นคงเป็นไปอย่างล่าช้า
ด้านเบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร บอกกับบีบีซี ว่า คงจะต้องใช้เวลาหลายปีสำหรับฝึกฝนนักบินยูเครนให้เรียนรู้ถึงวิธีการขับเครื่องบินรบยูโรไฟเตอร์ ไต้ฝุ่น
ซึ่งทาง เซเลนสกี ร้องขอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แม้ลอนดอนยอมรับว่าได้เริ่มฝึกฝนให้แก่นักบินยูเครนแล้วก็ตาม “มันไม่ใช่แค่การลากเครื่องบินไปที่ชายแดนเท่านั้น” วอลเลซ ระบุ พร้อมบอกว่าฝูงบินรบที่ล้ำสมัยจำเป็นต้องมีทีมสนับสนุนด้วย