บีโอไอกางแผนลุยโรดโชว์จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป ดูดบริษัทยักษ์ใหญ่โลกปักฐาน เล็งกิจการใหม่ที่ไทยส่งเสริม ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า อาหารแห่งอนาคต ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป้าปีนี้ 5-6 แสนล้าน ด้านสภาอุตสาหกรรมฯ ขอรัฐบาลช่วยดูแลต้นทุนการผลิตเพื่อสร้างแรงจูงใจนักลงทุน
ปี 2565 ล่าสุดภาคการลงทุนเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มการจ้างงานของประเทศ มีผู้ประกอบการไทยและต่างชาติขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 2,119 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 664,630 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด ขณะแนวโน้มการขอรับการส่งเสริมลงทุนปี 2566 ไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงสหรัฐฯที่มีนโยบายดึงการลงทุนกลับประเทศถือเป็นความท้าทายในปีนี้
วันที่ ๑๐ ก.พ.๒๕๖๖ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยว่า ในเบื้องต้นภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและมีแนวโน้มชะลอตัว คาดในปี 2566 ประเทศไทยจะยังสามารถรักษาระดับการลงทุนไม่ต่ำกว่า 500,000-600,000 ล้านบาท เนื่องจากประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง มีความเป็นกลางไม่อยู่ในความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และมีความสามารถในการจัดหาพลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์การลดคาร์บอนที่เป็นทิศทางอนาคตของโลก
นอกจากนี้ยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ๆ ที่เป็น Smart and Sustainable Industry ทำให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ BCG การแพทย์และสุขภาพ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ดิจิทัล รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น Data Center เป็นต้น
ขณะเดียวกันไทยยังมีความยืดหยุ่นในการรับมือกับวิกฤติหรือความเสี่ยงต่าง ๆ จะเห็นว่าช่วงโควิดรุนแรงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการบริหารจัดการที่ดี ไม่สร้างปัญหาให้กับภาคธุรกิจ โรงงานต่าง ๆ ยังสามารถทำการผลิตและนำเข้า-ส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดไทยอยู่ระหว่างการผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี(FTA)กับประเทศคู่ค้ารายสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป(อียู)ที่จะสร้างแรงจูงใจการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
การลงทุนของจีนยังคงมาแรง เป็นนักลงทุนต่างชาติที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุดกว่า 77,381 ล้านบาท แซงญี่ปุ่นที่เคยเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ในไทยมาโดยตลอด แนวโน้มในปีนี้จะเป็นอย่างไรนั้น เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า คาดทุนจีนยังแรงไม่ตกที่จะไหลเข้าไทย มีปัจจัยหลักจากการเลี่ยงสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
“ญี่ปุ่นและจีน ต่างเป็นนักลงทุนรายสำคัญของไทย โดยการลงทุนจากทั้งสองประเทศ ส่วนมากอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ แต่ในส่วนของจีน จะมีการลงทุนในกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ สิ่งทอ กระเป๋าเดินทาง และเฟอร์นิเจอร์จำนวนหลายโครงการด้วย”
วางแผนโรดโชว์ 4 ภูมิภาคใหญ่ เพื่อผลักดันการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 ให้ได้ตามเป้าหมายที่ 5-6 แสนล้านบาทปีนี้ จากที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022 ปลายปีที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จอย่างมากในการโปรโมทเรื่องเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่เป็นทิศทางและความยั่งยืนของโลกแก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ และผู้นำภาคธุรกิจเอกชนของเอเปค ทางคณะกรรมการ (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ โดยบีโอไอได้เริ่มจัดกิจกรรมโรดโชว์ทันที โดยได้เดินทางไปจัดสัมมนาการลงทุนที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ย. 2565 ณ กรุงโตเกียว และนครโอซากา
“การไปโรดโชว์ดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นเห็นว่าประเทศไทยยังคงเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญและยังสนใจพิจารณาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์บริหารจัดการการผลิตและการบริการในภูมิภาค รวมการเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) การผลิตพลังงานใหม่ เช่น ไฮโดรเจน และการผลิตอาหารแห่งอนาคต สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของโลกและของบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งทิศทางดังกล่าวจะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นได้อย่างมาก”
ในปี 2566 บีโอไอมีแผนจะจัดโรดโชว์ในอีกหลายประเทศ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้จัดโรดโชว์นำโดย ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ได้เดินทางไปพบนักลงทุนรายสำคัญในอุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากบริษัทรายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ได้ยืนยันขยายฐานธุรกิจในไทยระยะยาว
หลังจากนี้ บีโอไอยังมีแผนจัดโรดโชว์อย่างต่อเนื่อง โดยจะจัดกิจกรรมพบนักลงทุนรายสำคัญในประเทศจีนและยุโรป เพื่อประชาสัมพันธ์โอกาสในการลงทุนในประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญต่อไป
“นอกเหนือจากกิจกรรมโรดโชว์แล้ว บีโอไอยังจะมีโอกาสต้อนรับคณะนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่ให้ความสนใจลงทุนในไทย โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2566 จะมี 2 คณะ คือ คณะนักธุรกิจจากสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) และคณะนักธุรกิจจาก Trade Winds ของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเชิญชวนให้นักธุรกิจจากทั้งสองประเทศขยายการลงทุนในไทยมากขึ้น”
ด้านภาคเอกชนวอนรัฐบาลช่วยดูแลต้นทุนเพื่อดึงดูดลงทุนจากต่างชาติ โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจที่จะขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยนับจากนี้ที่มาแรงและเป็นทิศทางของโลก และเป็นกิจการที่ไทยให้การส่งเสริม ได้แก่ อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่(New S-Curve) เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล การแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อากาศยาน เป็นต้น หมวดที่ 2 ธุรกิจในกลุ่ม BCG Economy ที่เป็นวาระแห่งชาติของไทย เช่น ยารักษาโรค เวชสำอาง อาหารเสริม ไบโอพลาสติก เชื้อเพลิงที่มาจากไบโอ เป็นต้น
อีกกลุ่มคือ ธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ซึ่งเวลานี้ภาคธุรกิจของไทย และทั่วโลกอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ธุรกิจในกลุ่มหลัก ๆ ที่กล่าวมา ไทยต้องแข่งขันดึงการลงทุนกับประเทศต่าง ๆ สิ่งสำคัญรัฐบาลไทยต้องกำกับดูเรื่องสภาพแวดล้อมในการลงทุนให้เอื้อต่อการแข่งขัน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ การอำนวยความสะดวกให้ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญต้องดูแลต้นทุนการผลิตให้แข่งขันได้ ซึ่งเวลานี้ค่าไฟฟ้าที่เป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิตที่สำคัญของภาคเอกชนเฉลี่ย 5-10% ของต้นทุน ไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านมาก ขอให้เร่งหาทางปรับลดลงเพื่อไม่ให้เสียเปรียบในการแข่งขันดึงการลงทุนไปมากกว่านี้