จากกรณีที่มีรายงานถึงท่าทีของผู้นำอังกฤษในการส่งยุทโธปกรณ์ไปให้ยูเครนว่าเป็นของเก่าที่อยู่ในสต๊อค ขณะที่ยังไม่จัดหาซื้อใหม่ รวมทั้งการสั่งตัดงบประมาณกองทัพนั้น
ต่อมาสื่อต่างประเทศรายงานประธานาธิบดี เซเลนสกี้ เดินทางเยือนลอนดอน ท่ามกลางการกระพือข่าวของเคียฟว่าเครมลิน เตรียมส่งทหารไปเพิ่มในยูเครนสำหรับเปิดฉากโจมตีระลอกใหม่ โดยมุ่งไปที่แคว้นคาร์คีฟ หรือไม่ก็ซาโปริซเซียนั้น
ทั้งนี้ในรายงานระบุว่า วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 โอเล็กซี ดานิลอฟ ผู้อำนวยการด้านความมั่นคงแห่งชาติของยูเครน ให้สัมภาษณ์ คาดว่าเครมลินมีแผนเปิดการโจมตีระลอกใหม่ ถ้าไม่ใช่ที่แคว้นคาร์คีฟ ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน ก็เป็นแคว้นซาโปริซเซีย ทางภาคใต้
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครน ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ก็ได้ออกข่าวก่อนหน้านี้ว่า มอสโกจะพยายามเปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ รวมทั้งจะสั่งเกณฑ์ทหารมาเพิ่มในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ เพื่อโชว์ผลงานต่อชาวรัสเซียเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการบุกยูเครนในวันที่ 24 เดือนนี้
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาการสู้รบโฟกัสอยู่บริเวณรอบเมืองบัคมุต ซึ่งตั้งอยู่ในแคว้นโดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน และยูเครนส่งกำลังไปเฝ้ารักษา นอกจากนี้มอสโกยังโจมตีเมืองวูเลดาร์ ที่อยู่ถัดไปทางใต้ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ระหว่างแนวรบด้านตะวันออกและด้านใต้
ขณะเดียวกันชาติตะวันตกให้สัญญาว่า จะจัดส่งรถถังและยานยนต์หุ้มเกราะหลายร้อยคันเพื่อให้ยูเครนฝ่าแนวต้านของรัสเซีย สำหรับแพคเกจความช่วยเหลือใหม่ของอเมริกานั้นคาดว่า จะรวมถึงพวกลูกจรวดที่มีพิสัยทำการไกลขึ้นที่สามารถโจมตีเส้นทางลำเลียงอาวุธ และเสบียงของรัสเซียในดินแดนทั้งหมดที่มอสโกยึดครองทั้งในแผ่นดินใหญ่ยูเครนและคาบสมุทรไครเมีย
นอกจากนั้น เซเลนสกี้ยังเดินทางไปกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อขออาวุธเพิ่ม ซึ่งถือเป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งที่ 2 นับจากรัสเซียบุกยูเครน โดยครั้งแรกคือการเยือนอเมริกาในเดือนธันวาคม
อย่างไรก็ดี ยูเครนยังต้องรออีกหลายเดือนกว่าที่จะได้รับอาวุธใหม่ ขณะที่รัสเซียส่งกำลังทหารเข้าไปเพิ่มมากขึ้นๆ และเครมลินระบุว่า การที่ตะวันตกส่งอาวุธให้ยูเครนรังแต่ทำให้ความขัดแย้งขยายวงออกไป
เซียร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย กล่าวว่า อเมริกาและพันธมิตรกำลังพยายามทำให้การสู้รบขัดแย้งในยูเครนยืดเยื้อมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
“ด้วยการเริ่มจัดส่งอาวุธหนักและเร่งเร้าอย่างเปิดเผยให้ยูเครนเข้ายึดดินแดนซึ่งรัสเซียประกาศผนวกเป็นของตน ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วเป็นการลากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เข้าสู่ความขัดแย้งและอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้”
ด้าน เซเลนสกี้ ได้ขอบคุณรัฐสภาที่อนุมัติการแต่งตั้งวาซิล มัลยัค ในตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยงานความมั่นคงเอสบียู และอิฮอร์ คลีเมนโก ตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย พร้อมเรียกร้องให้ยุติข่าวลือหรือข้อมูลปลอมอื่นใดที่อาจบ่อนทำลายเอกภาพของยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย