คณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เห็นชอบร่างแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ระยะที่ 2 (2566-2570) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าออนไลน์ในประเทศเป็น 7.1 ล้านล้านบาท และเพิ่มสัดส่วนมูลค่าสินค้าที่ส่งออกไปต่างประเทศผ่านตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็น 20% ภายในปี 2570
วันที่ ๓ ก.พ.๒๕๖๖ นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการดำเนินการจัดทำแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของชาติ ระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) ต่อเนื่องจากระยะที่ 1 (ปี 2564-2565) โดยตั้งเป้ามูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศให้มีมูลค่า 7.1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 และยังได้ตั้งเป้าสัดส่วนมูลค่าสินค้าที่ส่งออกไปยังต่างประเทศของผู้ประกอบการที่ค้าขายผ่านตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ที่ร้อยละ 20 ภายในปี 2570 เพื่อให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยเติบโตทั้งภายในและระหว่างประเทศ
สำหรับ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ของแผนไว้ทั้งสิ้น 4 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนากำลังคน พลเมือง และผู้ประกอบการดิจิทัล (Competency Building) 2.การพัฒนาสภาพแวดล้อม และปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Ecosystem and Enabling Factors) 3.การยกระดับความเชื่อมั่นต่อการทำธุรกรรมในอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trust and Security) และ 4.การพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ และส่งเสริมการค้าออนไลน์ ทั้งภายในประเทศและข้ามพรมแดน (Enhance and Promotion)
ดร.สรรเสริญกล่าวว่า “การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ได้เข้ามามีผลต่อชีวิตของเรามากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดวิถีชีวิตแบบ New Normal ที่ผู้คนหันมาซื้อขายของออนไลน์กันมากขึ้น ส่งผลให้การค้าขายสินค้าออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเข้าถึงคนได้ทุกระดับ จน E-Commerce ได้กลายเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในปัจจุบัน โดยในปี 2566 คาดว่ามูลค่าการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมของประเทศจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาอีกครั้ง เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการขับเคลื่อนระบบนิเวศพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในทุกภาคส่วนกลับเข้าสู่ภาวะปกติแบบเต็มรูปแบบ”
ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดนโยบายในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการไทย ซึ่งรวมถึง SMEs วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร ด้วยการใช้ประโยชน์จากการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ทางการค้าที่ดี เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลก โดยการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่น ส่งเสริมการขยายตลาดสินค้ากลุ่ม BCG (Bio-Circular-Green Economy) และการเจรจาการค้าออนไลน์ (OBM)
สำหรับคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน เช่น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เป็นต้น เพื่อร่วมขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย และมุ่งเป้าให้ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยเติบโต เท่าทัน ครบครัน มั่นใจ ปลอดภัย ยั่งยืน”