นาโต้แตกเละ!? บัลแกเรีย-ออสเตรีย-ฮังการี-เซอร์เบียแหกมติ ยันไม่ส่งทั้งรถถัง-บินรบหนุนยูเครน หวั่นศึกลามทั่วยุโรป

0

การผลักดันของวอชิงตันให้ประเทศสมาชิกนาโต้เข้าร่วมสงครามกับรัสเซียเพิ่มหนักขึ้น ด้วยท่าทีการระดมส่งรถถังให้ยูเครน หวังพลิกเกมสงครามหนุนยูเครนจากเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อเนื่องเป็นรุกคืบจนกำชัยชนะได้ ประเทศสมาชิกนาโต้หลายประเทศดูเหมือนจะไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดบัลแกเรีย, ออสเตรีย, ฮังการีและเซอเบียร์ ประกาศจะไม่ส่งทั้งรถถัง, บินรบหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆให้ยูเครนทั้งสิ้น เพราะเชื่อว่าอาวุธยุทโธปกรณ์จะไม่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในยูเครน แต่จะเพิ่มความร้อนแรงที่ลุกลามไปทั่วยุโรปได้  ก่อนหน้านี้ คลอเดีย แทนเนอร์(Klaudia Tanner) รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรียและคริตอฟ ซาเลย์-โบบรอฟนิคสกี้ (Kristof Szalay-Bobrovniczky) รัฐมนตรีกลาโหมฮังการี ได้กล่าวในการประชุมที่บูดาเปสต์เมื่อวันที่ ๓๐ ม.ค.ที่ผ่านมาถึงจุดยืนของทั้งสองประเทศ เกี่ยวกับสงครามของรัสเซียกับยูเครนนั้น “ชัดเจน” ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือด้านทหารแก่ยูเครน “เพื่อป้องกันเหตุลุกลามบานปลาย”

วันที่ ๓ ก.พ.๒๕๖๖ สำนักข่าวทาซซ์รายงานว่า ประธานาธิบดี รูเมน ราเดฟ(Rumen Radev) แห่งบัลแกเรียและ ประธานาธิบดี คาตาลิน โนวัค (Katalin Novak) แห่งฮังการีแบ่งปันความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาในยูเครน ในการแถลงข่าวร่วมหลังจากการเจรจาในโซเฟีย

ราเดฟระบุว่า “เรามีความกังวลร่วมกันในบริบทของการพัฒนาสถานการณ์ของยูเครน” “ความขัดแย้งนี้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นการปะทะกันทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งตอนนี้คุกคามยุโรปทั้งหมด มันกำลังกลายเป็นสงครามแห่งการทำลายล้าง ไม่เพียงแต่สำหรับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่รวมถึงยุโรปด้วยสำหรับเศรษฐกิจและระบบสังคมของเรา เราเชื่อมั่นว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ไม่สามารถทำได้โดยการเพิ่มเสบียงอาวุธ โดยการแสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมในการเจรจาและการทูตเท่านั้น ความตึงเครียดจะต้องลดลง และความเป็นปรปักษ์จะต้องยุติลงด้วย”

โนวัคประมุขแห่งรัฐฮังการีกล่าวว่า “วิกฤตนี้ดำเนินมาเป็นเวลาหนึ่งปีแล้ว และน่าเสียดายที่เรายังไม่เห็นเงื่อนไข สำหรับสันติภาพในยูเครน แต่เราจำเป็นต้องทำงานเพื่อไม่ให้วิกฤตและแรงกดดันทางทหารบานปลายไปมากกว่านี้ เพื่อให้เงื่อนไขสำหรับสันติภาพที่ยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้โดยเร็วที่สุด” 

บรรดาผู้นำได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานทวิภาคี ตกลงที่จะทำงานร่วมกันในด้านการจัดหาพลังงาน และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์

นอกจากนี้ปธน.ฮังการียังมีกำหนดพบกับนายกรัฐมนตรีกาลับ โดเนฟ ผู้ดูแลประเทศระหว่างการเยือนบัลแกเรียอย่างเป็นทางการ

อีกหนึ่งประเทศที่ไม่หนุนคือ เซอร์เบียซึ่วมีท่าทีที่เป็นกลางต่อความขัดแย้งในยูเครนมาก่อนหน้านี้มากกว่าประเทศอื่น ๆ ประธานาธิบดีกล่าวยืนยัน

อเล็กซานเดอร์ วูซิซ(Aleksandar Vucic) ปธน.แห่งเซอร์เบีย ชี้ให้เห็นว่าเซอร์เบียไม่ได้จัดหาอาวุธให้ยูเครนและไม่มีแผนที่จะทำเช่นนั้น

ผู้นำเซอร์เบียกล่าวว่า “ในเซอร์เบีย เราสามารถคิดได้อย่างอิสระว่าทั้งสองฝ่ายในสงครามคิดอย่างไร ไม่เหมือนในประเทศอื่น เพราะมีการเซ็นเซอร์กันทุกที่ ไม่มีความคิดเห็นของทั้งสองฝ่าย มีเพียงฝ่ายหนึ่งเท่านั้นที่ดีและอีกฝ่ายหนึ่งเลวร้าย” 

ประธานาธิบดีเซอร์เบียเน้นย้ำว่า “วันนี้ เรากำลังเป็นสักขีพยานในสงครามโลกครั้งที่ ๓ ซึ่งจะขยายขนาดและขยายวงกว้างออกไป ยากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ในเร็ววัน หลายสัปดาห์ และหลายเดือนข้างหน้า” 

วูซิซได้ชี้ให้เห็นก่อนหน้านี้ว่า เซอร์เบียไม่ได้จัดหาอาวุธให้ยูเครนและไม่มีแผนที่จะทำเช่นนั้น เขาเน้นย้ำว่าปฏิบัติการทางทหารพิเศษของรัสเซียในยูเครนเป็นสาเหตุให้ตะวันตกกดดันเซอร์เบียอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการคว่ำบาตรรัสเซีย เขาตั้งข้อสังเกตซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า การที่เซอร์เบียเข้าร่วมนโยบายคว่ำบาตรรัสเซียจะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ใดๆ แต่ส่งผลร้ายต่อประเทศและประชาชนเซอร์เบีย

เขากล่าวปราศรัยกับประเทศชาติไม่นาน หลังจากเริ่มปฏิบัติการทางทหารพิเศษของรัสเซียในยูเครน เขากล่าวว่าแม้ว่าประเทศของเขาจะสนับสนุนบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน แต่ก็จะไม่กำหนดบทลงโทษต่อรัสเซีย นอกจากนี้ เขายังประกาศว่าประเทศของเขาจะระงับการฝึกซ้อมของกองทัพและตำรวจกับพันธมิตรต่างชาติเป็นการชั่วคราว เขาตั้งข้อสังเกตว่าเซอร์เบียมองว่ารัสเซียและยูเครนเป็นชาติภราดรภาพ เสียใจกับการพัฒนาในยุโรปตะวันออก และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เคียฟ

บรรดาชาติพันธมิตรนาโต้ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส โปแลนด์ และเยอรมนีเตรียมส่งมอบรถถังและอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ให้แก่ยูเครน เพื่อหนุนยูเครนสู้รบต่อไป จนกว่าจะเหลือคนสุดท้ายตามที่วอชิงตันสั่ง แต่เมื่อเคียฟขอเพิ่มเป็นบินรบ F-16 และขีปนาวุธพิสัยไกล ชาติยุโรปทั้งหลายยังอ้ำอึ้งเพราะทั้งราคาแพงและตัวเองก็มีไม่มาก ผิดกับสหรัฐเปิดเผยว่ากำลังเตรียมจะส่งขีปนาวุธพิสัยไกลให้ยูเครน  การเคลื่อนไหวของสหรัฐฯบ่งบอกชัดเจนว่าไม่ต้องการให้เกิดการเจรจา และมั่นใจว่าสงครามตัวแทนยูเครนจะทำให้รัสเซียติดหล่มและอ่อนกำลังลงอย่างถึงที่สุด เพื่อรอวันที่เมกาจะเปิดหน้าถล่มรัสเซีย แม้ยุโรปจะพังราบแค่ไหนเมกาคงไม่สนใจ ทุกวันนี้ก็สูบเลือดยุโรปให้ซื้อพลังงานราคาแพง ทดแทนน้ำมันและก๊าซของรัสเซียอยู่แล้ว ที่ลำบากสาหัสก็คือประชาชนยุโรปนั่นเอง!!