ฝ่าพายุศก.!! รัฐฯปลื้มการค้าข้ามแดน-ส่งออกทะลุเป้า ๑.๗ ล้านล้าน เร่งลดอุปสรรคปี ‘๖๖ ห่วงบาทแข็งกระทบ

0

คต. เร่งลดอุปสรรค ดันการค้าข้ามแดน-ส่งออก ปี’66 ชี้บาทแข็งอาจส่งผลต่อการกำหนดเป้าหมายรายได้ ขณะที่ผลงานการค้าชายแดนและผ่านแดนของปี 2565 มีมูลค่าสูงรวมทั้งสิ้น 1,790,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.44% โดยเฉพาะการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศหลักเติบโตทุกตลาด ปี 2566 เตรียมเจรจาเร่งเปิดด่านเพิ่มโอกาสการค้าของไทย

วันที่ ๓๑ ม.ค.๒๕๖๖ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แผนงานในปี 2566 กรมคงให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิในการลดภาษีเพื่อส่งออกภายใต้ความตกลงต่าง ๆ เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้ง เดินหน้าผลักดันการค้าชายแดน-ผ่านแดนและการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง เป็นต้น เพื่อให้มูลค่าการค้าของไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงติดตามความคืบหน้าการใช้มาตรการทางการค้าของประเทศต่าง ๆ

ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2566 มีความเคลื่อนไหวด้านการใช้สิทธิในการลดภาษีเพื่อส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีและมาตรการทางการค้า ดังนี้ 

  1. การใช้สิทธิลดภาษีเพื่อส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 12 ฉบับ จากความตกลงที่ไทยมีอยู่ 14 ฉบับ (ไม่รวมความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ฮ่องกง ที่ภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ในทุกรายการสินค้า และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ที่ใช้ระบบการรับรองตนเองของผู้ส่งออก โดยปี 2565 มีมูลค่ารวม 84,633.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.90% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2564 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 82.11% ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในกรอบความตกลงต่างๆ ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน ทุเรียนสด และเนื้อไก่และเครื่องในไก่ที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย เป็นต้น

2.กรอบความตกลงที่มีการใช้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. อาเซียน ยังคงครองแชมป์ โดยมีมูลค่า 30,793.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17.17% 2. อาเซียน – จีน (ACFTA) มูลค่า 26,290.61 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.80% 3.ไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 6,723.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.47% 4. ไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 6,040.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลงเล็กน้อยที่ 1.90% และ5. อาเซียน – อินเดีย (AIFTA) มูลค่า มูลค่า 5,723.83 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.76% นอกจากนี้ ยังมีการใช้สิทธิตามกรอบความตกลงอื่น ได้แก่ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน – เกาหลีใต้(AKFTA) มูลค่า 3,624.87 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.77% ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ส่งออกไปออสเตรเลีย มูลค่า 2,710.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.01% และความตกลงเขตการค้าเสรีไทย – ชิลี (TCFTA) มูลค่า 593.15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.02%

สำหรับความตกลง RCEP ปี 2565 มีการส่งออกไป 8 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ มาเลเซีย และเวียดนาม มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 994.77 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญภายใต้ความตกลง RCEP น้ำมันหล่อลื่น (เกาหลีใต้) ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาสคิปแจ็ค และปลาโบนิโต ชนิดซาร์ดา (ญี่ปุ่น) มันสำปะหลังเส้น (จีน) เป็นต้น

  1. การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ที่ไทยได้รับสิทธิประโยชน์จาก สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช โดย 11 เดือนปี 2565 มีมูลค่ารวม 3,472.61 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 54.85% โดยตลาดสหรัฐครองแชมป์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ ถึง 3,200.09 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.18% สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 253.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.05% และนอร์เวย์ มูลค่า 15.31 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.87% ส่วนกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) มีมูลค่า 3.32 ล้านเหรียญสหรัฐ 

สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศอื่น ๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง กรดมะนาว หรือกรดซิทริก เลนส์แว่นตาทำจากวัสดุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แก้ว หีบเดินทางขนาดใหญ่ กระเป๋าใส่เสื้อผ้า หลอดหรือท่อทำด้วยทองแดงบริสุทธิ์ ไร้รอยต่อ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ระบบส่งกำลังอื่น ๆ ภายใต้พิกัด 8701 และ 8702-8705 และพลาสติกอื่น ๆ ตามลำดับ แม้ว่าโครงการ GSP สหรัฐฯได้สิ้นสุดอายุไปวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และขณะนี้สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการดำเนินขั้นตอนการต่ออายุโครงการ ส่งผลให้ผู้นำเข้าสินค้าที่เคยได้รับสิทธิ GSP สหรัฐ จะต้องชำระภาษีในอัตราปกติ (MFN rate) ไปจนกว่าโครงการจะได้รับการต่ออายุ แต่เพื่อรักษาสิทธิ ผู้นำเข้าสามารถยื่นขอใช้สิทธิ GSP ในการนำเข้าสินค้าได้ตามปกติ โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ ทำการคืนภาษีเมื่อโครงการฯ ได้รับการต่ออายุแล้ว”

  1. การส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดน ปี 2566 กรมร่วมกับภาคเอกชน ตั้งเป้าไว้ที่ 1,060,732 ล้านบาท หรือเพิ่ม 3% จากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 1,029,837 ล้านบาท โดยแผนผลักดันได้แก่ 1.แก้ปัญหาการค้าชายแดนและผ่านแดนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผ่านการลงพื้นที่และติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด 2. จัดมหกรรมการค้าชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 3.บูรณาการร่วมกับจังหวัดชายแดนเพื่อผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนเพื่อการขนส่งสินค้าให้ครบทุกจุด โดยสถานะการเปิด-ปิดจุดผ่านแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบัน ณ 25 มกราคม 2566 ฝั่งไทยเปิด 80 แห่ง จากรวม 97 แห่ง ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเปิด 72 แห่ง

  1. ด้านความคืบหน้ากรณีสหรัฐฯ เปิดไต่สวนมาตรการ AC (มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน) กับ 3 สินค้าไทย ได้แก่ 1.สินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ ( CSPV) ที่ส่งออกจากมาเลเซีย ไทย เวียดนาม และกัมพูชา โดยกล่าวหาว่าสินค้า CSPV ที่ส่งออกจากไทย เป็นการนำชิ้นส่วนที่ผลิตจากจีนมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปและส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยกรมมีหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (DOC) เพื่อคัดค้านผลการไต่สวนชั้นต้น และจัดประชุมร่วมกับผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับผลการไต่สวน ล่าสุดสหรัฐฯ จะเดินทางมาตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง ณ สถานประกอบการที่ประเทศไทย ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุด ภายใน26 เมษายนนี้ 2. สินค้า Aluminum Foil ที่ส่งออกจากไทยและเกาหลีใต้ 3.สินค้าลวดเย็บ ที่ส่งออกจากไทยและเวียดนาม กล่าวหาว่าสินค้า Aluminum Foil และสินค้าลวดเย็บที่ส่งออกจากไทย เป็นการนำชิ้นส่วนที่ผลิตจากจีนมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปและส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยกรมจัดประชุมร่วมกับผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย เพื่อหารือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าร่วมกระบวนการไต่สวนของทั้ง 2 สินค้า และกรมเดินทางไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตสินค้าลวดเย็บ ณ สถานประกอบการ ล่าสุดสหรัฐอยู่ระหว่างการไต่สวนทั้ง 2 สินค้า คาดว่าจะประกาศผลชั้นต้น สินค้า Aluminum Foil ภายใน 28 กุมภาพันธ์ 2566 และสินค้าลวดเย็บภายในเดือนพฤษภาคม 2566 และจะประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุด สินค้า Aluminum Foil ภายใน 18 กรกฎาคม 2566 และสินค้าลวดเย็บภายในเดือนตุลาคม 2566

6. เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการในการใช้งานระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ กรมจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “สอนใช้งานระบบ SMART C/O ส่วนงาน Front Office” ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้รับบริการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ระหว่าง 6 – 8 กุมภาพันธ์ 2566 ชั้น 8 กรมการค้าต่างประเทศ และจัดสัมมนา“เพิ่มขีดความสามารถการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง” ให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการขึ้นทะเบียนและการส่งออกด้วยระบบ Self-Certification ภายใต้กรอบความตกลงต่างๆ การใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางการค้า ใน 22 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี