เกณฑ์ทหาร-เรียนรด. คือความเหลื่อมล้ำของอนค. อ้างแบ่งแยกคนจน-รวย?!?

0

แม้แต่นายกฯยังต้องออกมาดึงมารั้งกับการขยับเร่งเกมของพรรคสีส้มในเรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหารที่อาจสร้างความสับสนให้สังคม กระทั่งระดับแกนนำพรรคที่เดินเรื่องนี้อยู่ต้องออกมาโต้?!? เป็นการตอบโต้ที่ชวนให้ตั้งคำถามเพราะมีการอ้างถึงความเหลื่อมล้ำ -อ้างถึงคนมีกับคนไม่มีในการเกณฑ์ทหาร-ในการเรียนรด.???

 

14 พ.ย. 62  พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.รับราชการทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ…. เพื่อที่จะแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรับราชการทหารเดิม

 

ซึ่งประเทศไทยมีการเกณฑ์ทหารมาประมาณ 100 ปี ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงกันใหม่ นโยบายนี้เป็นการปฏิรูประบบการรับราชการทหารของทหารกองประจำการ และการปฏิรูปกองทัพ โดยหลักเกณฑ์จะไม่แตะต้องการเกณฑ์ทหารแบบเดิม แต่จะเปลี่ยนในประเด็นคือ

 

1.อายุคนเกณฑ์ จาก 21 ปี มาเป็น 18 ปี

 

2.เกณฑ์เฉพาะช่วงที่มีภัยสงคราม เมื่อจะมีภัยสงคราม คณะรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะเรียกเกณฑ์ทหารได้ ซึ่งสามารถเกณฑ์ได้เพียง 1 ปีเท่านั้น

 

3.ฝึก 3 เดือนเป็นขั้นต้น ฝึกอีก 3 เดือนเป็นขั้นสูง และรอดูสถานการณ์อีก 6 เดือนว่าจะมีสงครามต่อหรือไม่

 

ไม่อยากให้บุตรหลานไม่มีความพร้อมมาถูกเกณฑ์ จะใช้การสมัครใจ โดยให้สิทธิการสมัครทั้งหญิงและชาย ทุกเพศ จนถึงอายุ 40 ปี และมีเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ เหตุผลคือ จะเพิ่มการฝึก และการสร้างความชำนาญ จาก 2 ปี เป็น 5 ปี

 

เดิมในเวลา 2 ปี ใช้งานได้เพียง 1 ปีครึ่ง ถ้าหากเปลี่ยนเป็น 5 ปี ไม่จำเป็นต้องเกณฑ์คนจำนวนมาก แต่มีความชำนาญสูง งบประมาณก็จะเหลือไปเพิ่มเงินเดือนถึงสิบโทกองประจำการ ให้มีทุนการศึกษาเรียนต่อ มีสวัสดิการให้แก่ครอบครัว มีกองทุนให้ออกไปประกอบอาชีพ

 

ทั้งนี้พล.ท.พงศกร ยังกล่าวอีกว่า อยากได้ทหารกองประจำการทำหน้าที่ป้องกันประเทศชาติ เกณฑ์ 5 ปี ก็สามารถต่อได้อีก 5 ปี แต่ถ้าใครไม่อยากจะต่อแล้วสามารถขึ้นเป็นทหารกองประจำการปกติ คือนายทหารประทวนและนายทหารสัญญาบัตร

 

“จะจัดให้มีการสอบทุก 5 ปี และเกษียณที่อายุ 46 ปี ตลอดจนปรับยศได้ถึงพันโท ต้องการผู้บังคับบัญชาที่เป็นมืออาชีพ ที่จะมาทดแทนกำลังทหารที่ต้องอยู่จนเกษียณอายุ คือ หากเป็นจ่าสิบเอก จากนั้นก็ขึ้นเป็นร้อยโท ร้อยเอก พออายุ 50 ปีก็คงจะวิ่งไม่ไหว และรบได้ยาก ต้องการคนหนุ่มคนสาวมาทำการรบ และมีวิธีการคิด”

 

จะนิรโทษกรรมให้กับคนที่เคยหนีทหารก่อนที่กฎหมายจะใช้บังคับ และผู้ที่มี สด.43 ก็อาจเลิกใช้ เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสมัครงานอีกต่อไป เพราะจะมีแต่คนที่สมัครใจมาเป็นทหาร เดิมเกณฑ์ประมาณ 5-6 หมื่นคน สมัครมา 3 หมื่น ปัจจุบันเกณฑ์ประมาณ 1 แสน สมัครประมาณ 4-5 หมื่น ” พล.ท.พงศกร กล่าว

 

นั่นคือหลักการใหญ่ที่พรรคอนาคตใหม่บอกว่าจะใช้ในการแก้พรบ.รับราชการทหาร ซึ่งสังคมฟังแล้วต้องพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียอย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะมาฟังข้อมูลอีกด้าน!?!

 

28 พ.ย. 62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวที่พรรคอนาคตใหม่เสนอ พ.ร.บ. รับราชการทหารฯ ให้ใช้สมัครใจแทนการเกณฑ์ทหารว่า อยากให้มองว่าทุกคนต้องมีจิตสำนึกในการเกณฑ์ทหาร

 

เป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคน และไม่ใช่ชายไทยทุกคนต้องมาเป็น เพียงแค่ขึ้นทะเบียนทหารกองเกินไว้ แต่ละคนยังมีทางเลือกอีก ถ้าทุกคนจบการศึกษา จบหลักสูตรนักศึกษาวิชาการ ( นศท.) ก็ไม่ต้องเกณฑ์ ในขณะเดียวกันก็สามารถเข้ามาเป็นนายทหารได้ด้วย

 

ปัจจุบันกองทัพมียอดความต้องการทหารทั้งหมด 1 แสนกว่านาย และประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ที่สมัครเข้ามาเป็นอยู่แล้วที่เหลือจึงใช้การเกณฑ์ทหาร จับใบดำ-ใบแดง สิ่งเหล่านี้คือการสร้างความเป็นธรรมในสังคม

 

ถ้ายกเลิกไปแล้วอันตรายจะเกิดขึ้น เพราะใครจะมาทำหน้าที่ป้องกันประเทศไม่ได้มีแค่พลทหาร แต่มีนายทหาร นายสิบ เป็นผู้มีบทบาทนำในการปฏิบัติการสู้รบ จำเป็นต้องมีลูกชุด ลูกหมู่ ลูกหมวด ถ้ามีแต่เฉพาะนายทหาร นายสิบก็ต้องมีลูกมือ มีแรงงานต้องผสมผสานกันในเรื่องของการฝึก การสู้รบ

 

สำหรับการฝึกสู้รบ ไม่ใช่ฝึกแค่เดือนเดียวแล้วไปรบได้ ต้องฝึก 2 ปี และต้องคัดเลือกคนเวลาไปชายแดน บางคนเป็นทหารแล้วแต่ไปชายแดนไม่ได้ เพราะไม่เข้มแข็งพอแม้จะฝ่ายการฝึกตามเกณฑ์10 สัปดาห์ไปแล้วก็ตาม การคัดเลือกคนไปชายแดน หรือ ไปจังหวัดชายแดนภาคใต้  ต้องเอาคนที่มีจิตใจรุกรบ ไม่เช่นนั้นพอมีเสียงปืนก็ทิ้งอาวุธหนีกันหมด

 

สหรัฐฯที่มีงบตอบแทนเงินเดือนและสวัสดิการมากพอ  สำหรับไทยมีหลายกองกำลัง  มีทหารนอนอยู่ที่ชายแดนเป็นหมื่นนายในแต่ละวัน

 

“คิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาต่อสู้กัน แต่ขณะนี้เป็นการรณรงค์ในสิ่งที่ผิด ถ้าวันหน้ามีน้ำท่วม ภัยพิบัติ จะใช้กำลังพลจากไหน กองทัพมีคนที่มีระเบียบวินัย มียานพาหนะพร้อม เมื่อเกิดภัยพิบัติ ก็พร้อมออกไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันที อะไรที่มีอยู่แล้วก็ทำให้มันดีต่อไป ไม่ใช่ยกเลิกทั้งหมด แล้วไปทำใหม่ทั้งหมด

 

ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เราเข้มแข็งมาโดยตลอด แล้วเราจะไปลดความเข้มแข็งของเราได้อย่างไร เมื่อความมั่นคงคือพื้นฐานของเศรษฐกิจ ความมีเสถียรภาพ ความมั่นคงของประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

และนี่คือข้อมูลอีกด้านที่อดีตผบ.ทบ.พูดออกมาในขณะฟากการเมืองอีกฝ่ายกำลังรณรงค์จะเพื่ออะไร??? ซึ่งเรื่องนี้มีการตั้งข้อสงสัยว่าเพื่อเรียกคะแนนความนิยมจากพ่อแม่และเด็กหรือไม่???

 

ต่อมา พลโท พงศกร ก็ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพื่อตอบโต้นายกฯ ซึ่งมีเนื้อความบางส่วนที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า

 

ขอเฉลยเพื่อนำเสนอท่านนายกฯว่า อนาคตใหม่ไม่ได้ยกเลิกทหารกองประจำการ แต่ขยายเวลาฝึกและสร้างความชำนาญรวมถึงมีทุนการศึกษา และสวัสดิการต่างๆเพื่อให้มีจิตใจรุกรบ ไม่ใช่ฝึกเดือนเดียวแล้วทิ้งปืนหนีอย่างที่ท่านเกรง

 

งบประมาณก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยต้องกล้าลดขนาดกองทัพลงเพื่อไปเพิ่มเทคโนโลยีและอาวุธดีๆมากขึ้น

 

การรับราชการเป็นทหารอาชีพ มีการฝึกที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีมาตรฐานแบบสากล นำความภูมิใจและจิตใจรุกรบมากกว่าการบังคับไปเป็นทหารแน่นอน

 

การเห็นว่าเกณฑ์ทหารและ รด. คือความเป็นธรรมนั้น โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยและคิดว่าเป็นการแบ่งแยกกันระหว่างคนมีกับคนไม่มีด้วยซ้ำไป

 

ยิ่งมองว่าเรียนวิชาทหารแล้วก็ไม่ต้องเป็นทหารยิ่งตอกย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำ และกองทัพจะอ่อนแอ เพราะการฝึกก็เพื่อให้ทุกคนรบได้จริง ไม่ใช่ให้ไม่ไปรบ

 

กรณีน้ำท่วม ทหารยังมีมากมายที่จะไปช่วยบรรเทาสาธารณภัย ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่หลักของฝ่ายพลเรือน

 

ในการเกิดสงครามขนาดใหญ่ กำลังหลักและกองหนุนก็ยังมีจำนวนรวมใกล้เคียงหรือเท่าเดิม เพียงแต่ปรับจากเดิมที่กำลังหลัก(ประจำการ) มีมากกว่ากองหนุน มาเป็น กองหนุนมีมากกว่าเท่านั้น ดังนั้นการระดมพลมาช่วยบรรเทาภัยหรือทำสงคราม จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม”

 

ก่อนที่รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะทิ้งท้ายโดยอ้างถึงพระปรีชาของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ที่ทรงปฏิรูปกองทัพและระบบราชการให้เป็นสมัยใหม่มาจนปัจจุบัน บทพิสูจน์คือการเอาชนะสงครามฮ่อ ด้วยกองทัพที่ฝึกแบบตะวันตก ทั้งที่กองทัพรูปแบบเดิมกำลังมากกว่าก็ทำได้เพียงเสมอหรือแพ้กองทัพฮ่อ

 

ประเด็นที่รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ตอบโต้นายกฯมีจุดสะดุดใจอยู่ตรงประเด็นการเกณฑ์ทหารและรด. คือการแบ่งแยกกันระหว่างคนมีกับคนไม่มี เป็นตอกย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำ???

 

ดังนั้นจึงอยากจะพาไปทำความรู้จัก ทำความเข้าใจถึงข้อมูลของการเกณฑ์ทหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรด.ด้วยข้อเท็จจริงดังนี้

 

นักศึกษาวิชาทหาร หรือ นศท. คือ บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503 เป็นกำลังพลสำรองของกองทัพไทยภายใต้การควบคุมของ โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน

 

ปี 2475 ประเทศไทยเริ่มมีการฝึกยุวชนทหารเพื่อผลิตทหารกองหนุน สนับสนุนการรบของกองทัพไทย กล่าวได้ว่าการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มีต้นกำเนิดและแนวคิดมาจากยุวชนทหาร

 

ปี 2491 กิจการการศึกษาวิชาทหารได้เริ่มต้นขึ้นโดยมีการสถาปนากรมการรักษาดินแดน ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2491 เพื่อดำเนินกิจการดังกล่าว ลงคำสั่งทหารที่ 54/2477 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 โดยแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น (ต่อมาแก้ไขโดย พ.ร.บ.จัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2500)

 

ปี 2497 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายสำคัญ 2 ฉบับในราชกิจจานุเบกษา คือ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 และ พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ส่งผลให้นักศึกษาหรือนิสิตที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494

 

ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ต้องเข้ารับราชการทหารในฐานะนายทหารสัญญาบัตรต่อไปอีกไม่เกิน 2 ปี จากนั้นให้ปลดเป็น นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน หรือรับราชการในฐานะนายทหารสัญญาบัตรประจำการต่อก็ได้

 

การคัดเลือก

 

จะมีการคัดเลือกนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหาร โดยผู้เข้ารับการคัดเลือกจะต้องมีคุณลักษณะดังนี้

 

1.สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป และมีผลการเรียนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1.00

 

2.กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเปิดทำการฝึกวิชาทหาร

 

3.เป็นบุคคลชายหรือหญิงและมีสัญชาติไทย

 

4.เป็นบุคคลผู้มีอายุไม่เกิน 22 ปี นับตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และต้องได้รับคำยินยอมจาก บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง (กรณีที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) (ดูการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านล่างประกอบ สำหรับผู้มีอายุต่ำกว่า 17 ปี)

 

5.เป็นบุคคลที่ไม่พิการ ทุพพลภาพ หรือมีโรค ซึ่งไม่สามารถจะรับราชการทหารได้ ตามกฎหมาย ว่าด้วยการรับราชการทหาร พ.ศ. 2497

 

6.เป็นบุคคลผู้มีน้ำหนัก ขนาดรอบตัว ขนาดส่วนสูง ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยผู้สมัครต้องผ่านการทดสอบร่างกาย ตามเกณฑ์ที่กำหนด

 

7.มีใบรับรองของสถานศึกษาว่ามีความประพฤติเรียบร้อย สมควรเข้ารับการฝึกวิชาทหาร

 

8.ไม่เป็นทหารประจำการ , ทหารกองประจำการ , ผู้ที่ปลดประจำการ ภายหลังจากรับราชการในกองประจำการครบกำหนด แล้วปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 แล้ว หรือ ถูกกำหนดตัวให้เข้ากองประจำการแล้ว

 

9.เป็นบุคคลผู้มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI: Body Mass Index) อยู่ในเกณฑ์ปกติ และต้องไม่อยู่ในภาวะ โรคอ้วน ซึ่งมีดัชนีความหนาของร่างกาย ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป

 

การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย

 

ผู้เข้ารับการทดสอบ จะต้องผ่านเกณฑ์ทดสอบสมรรถภาพการคัดเลือกนักศึกษาในปี พ.ศ. 2553 โดยแต่ละอย่างจะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน หากสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ (วิ่งครบระยะทาง/ดันพื้นและลุกนั่งครบจำนวนครั้ง ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด) จะได้รับคะแนนเต็มในส่วนนั้นๆ นอกจากนี้หากได้คะแนนเต็มทั้ง 3 ส่วน จะสามารถรายงานตัวเข้ารับการฝึกได้ทันที

 

หลักสูตรและการเรียนการสอน

 

เป้าหมายของการฝึกนักศึกษาวิชาทหารในแต่ละชั้นปี

 

ชั้นปีที่ 1 และ 2 ให้นักศึกษาวิชาทหาร ให้มีความรู้วิชาทหารเบื้องต้น เพื่อให้บังเกิดระเบียบวินัย ลักษณะทหาร การเชื่อฟังและการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด สามารถใช้อาวุธประจำกาย และทำการยิงปืนอย่างได้ผล

 

ชั้นปีที่ 3 ให้นักศึกษาวิชาทหาร ให้มีความรู้วิชาทหารทั้งทางเทคนิคและยุทธวิธี ให้สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้บังคับหมู่ได้

 

ชั้นปีที่ 4 ให้นักศึกษาวิชาทหาร ให้มีความรู้วิชาทหารทั้งทางเทคนิคและยุทธวิธี ให้สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งรองผู้บังคับหมวดได้

 

ชั้นปีที่ 5 ให้นักศึกษาวิชาทหาร ให้มีความรู้วิชาทหารทั้งทางเทคนิคและยุทธวิธี ให้สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดได้

 

สิทธิที่นักศึกษาวิชาทหารจะได้รับ

 

การยกเว้นตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการ

 

นักศึกษาวิชาทหารซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรของกระทรวงกลาโหมกำหนดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503 มีสิทธิได้รับการยกเว้นการเรียกมาตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติ ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497

 

การเข้ารับราชการทหารกองประจำการ

 

บุคคลชายผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน

 

นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จชั้นปีที่ 1 มีสิทธิเข้ารับราชการทหารกองประจำการ 1 ปี 6 เดือน หรือร้องขอสมัครใจเป็น 1 ปี

 

นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จชั้นปีที่ 2 มีสิทธิเข้ารับราชการทหารกองประจำการ 1 ปี หรือร้องขอสมัครใจเป็น 6 เดือน

 

นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จชั้นปีที่ 3 4 และ 5 มีสิทธิได้รับการขึ้นทะเบียนกองประจำการและปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 (ได้รับยกเว้นการเข้ารับราชการทหารกองประจำการ )

 

ข้อผูกพันต่อทางราชการ

 

นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จหลักสูตรชั้นปีที่ 3 , ชั้นปีที่ 4 หรือ ชั้นปีที่ 5 ให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และ นำปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ และถือว่าเป็นกำลังพลสำรองของกองทัพแล้ว ทางราชการมีสิทธิ์เรียกพลเพื่อตรวจสอบสภาพ , ตรวจสอบบัญชีรายชื่อ หรือ เพื่อฝึกวิชาทหารได้ทุกเวลา

 

ถ้ามีการเรียกพล ทางอำเภอจะส่งหมายเรียกไปที่บ้านของผู้นั้น เพื่อนัดวัน เวลา และ สถานที่ ซึ่งผู้ถูกเรียกพล ต้องมารายงานตัวตาม วัน เวลา และ สถานที่ที่กำหนดไว้ โดยมีกำหนดการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร 10 ปี ตามเงื่อนไขของระบบการกำลังพลสำรอง

 

การเรียกพลจะกระทำจนถึงอายุ 29 ปีบริบูรณ์ ถ้าหากทหารกองหนุนหลีกเลี่ยงการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร ต้องรับโทษ ตาม พ.ร.บ. การรับราชการทหาร พ.ศ. 2497

 

นี่คือข้อเท็จจริงที่นำมาแจกแจงให้สังคมได้รับทราบ เพราะไม่อยากให้ฟังข้อมูลเพียงด้านเดียว!?! โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรคที่มักอ้างตัวเป็นประชาธิปไตย พูดถึงความเหลื่อมล้ำจนติดปาก!!! จึงอยากให้คนไทยพิจารณาว่าการเกณฑ์ทหาร-การเรียนรด.เป็นการแบ่งแยกคนจน-รวยจริงหรือ???