อะไรๆก็เกิดขึ้นได้จริงๆกับการเป็นรัฐบาลผสม ล่าสุดเมื่อ6ประชาธิปัตย์โหวตร่วมฝ่ายค้านให้ตั้งกรรมาธิการดูผลกระทบจากคำสั่ง ม.44 เรื่องนี้คนที่ลมออกหูมากที่สุดคงหนีไม่พ้น หัวหน้าคสช.ที่วันนี้อยู่ในฐานะนายกฯ!?! ซึ่งก็มีคำถามให้ชวนกันพิจารณาว่า6ปชป.คิดอะไร??? ทำไมจึงจะบอกว่านี่คือรอยร้าวของแก้วที่ยากสมานคืน และรัฐบาลจะพังเพราะพรรคร่วมนี่แหละไม่ใช่ความเก่งของฝ่ายค้านหรือพิษสงของม็อบ?!?
27 พ.ย.62
การประชุมสภาฯมีการพิจารณาญัตติด่วนให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของ คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว
จากนั้นได้มีการลงมติว่าจะให้ตั้ง กมธ.วิสามัญหรือไม่ ซึ่งผลคะแนนปรากฏ คะแนนเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.ด้วยคะแนน 236 ต่อ 231 งดออกเสียง 2 แม้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล รีบแก้เกมเสนอให้นับคะแนนใหม่ แต่ก็โดนส.ส.ฝ่ายค้านส่งเสียงโห่ลั่น
ขณะนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีเสียงในสภา 498 เสียง เป็นฝ่ายรัฐบาล 254 เสียง ฝ่ายค้าน 244 เสียง ห่างกัน 10 เสียง ดังนั้นการลงมติจะมีผลต่างไม่เกิน 25 เสียง
แต่นายชวน ขอให้ใช้ข้อบังคับข้อที่ 85 ขานชื่อลงคะแนน ระหว่างนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านพากันวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม ขณะนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอนับองค์ประชุมทันที เมื่อมีการนับผลปรากฏว่ามีเสียงเพียง 92 เสียง ถือว่าองค์ประชุมไม่ครบ
สำหรับเสียงโหวตสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของ คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ที่ฝ่ายค้านโหวตชนะ พบว่ามี ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ 6 คนโหวตสนับสนุนคือ
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช และนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยนายสาทิตย์โหวตในฐานะเป็นผู้ยื่นญัตติดังกล่าว ส่วนอีก 5 คน โหวตในฐานะผู้ลงนามสนับสนุนให้ยื่นญัตติ
นายเทพไท กล่าวว่า เป็นหนึ่งใน ส.ส.ที่โหวตเพราะก่อนหน้าเคยหารือในวิปรัฐบาลแล้วเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรตั้งกรรมาธิการชุดนี้ แต่เรายืนยันว่าจะอภิปรายและขอใช้เอกสิทธิ์ในฐานะผู้เสนอและผู้สนับสนุนญัตติ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนมาจากประชาชน และกระแสสังคมในสื่อโซเชียล ตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่ถือว่าสร้างความเสียหายอะไรให้รัฐบาล
โดยผลโหวต 236 ต่อ 231 งดออกเสียง 2 มีส.ส.อีก 33 คน ไม่ได้เข้ามาร่วมโหวต ประกอบด้วย พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคประชาธิปัตย์ 6 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน ขณะฝ่ายค้าน 15 คน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 10 คน พรรคอนาคตใหม่ 2 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน เสรีรวมไทย 1 คน ประชาชาติ 1 คน
นั่นคือเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 27 พ.ย.62 และหากย้อนไปก่อนหน้านี้หนึ่งสัปดาห์คือ 21 พ.ย. มีการประชุมสภาฯ พิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44
มีจำนวน 7 ญัตติที่เสนอโดยส.ส.ฝ่ายค้าน และรัฐบาล โดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะหนึ่งในผู้เสนอญัตติ อภิปรายว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.เวลานั้น ได้ก่อรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
นายปิยบุตร กล่าวว่า คสช.มีกองกำลัง อาวุธทางกายภาพยึดอำนาจปกครองประเทศเป็นเผด็จการ จริงๆไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายก็ได้ แต่กลับเลือกใช้มาตรการทางกฎหมายตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยอ้างว่าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รวบรวมคำสั่งหัวหน้าคสช. 217 ฉบับ
ประกาศหัวหน้าคสช. 1 ฉบับ ประกาศคสช. 133 ฉบับ และคำสั่งคสช. 214 ฉบับ รวมทั้งหมด 565 ฉบับ เมื่อเทียบกับคณะรัฐประหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่ปกคครองบประมาณ 5 ปี ออกประกาศคำสั่ง 57 ฉบับ สมัยจอมพลถนอมครองอำนาจ 1 ปี 10 เดือน ออกประกาศคำสั่ง 966 ฉบับ
ในอดีตจะนึกถึงมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ แต่ถ้ามองในระบบกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจมากตรงที่ขนาดเรามีรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 แต่หัวหน้าคสช.ก็ยังมีอำนาจพิเศษอยู่
รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 มาตรา 279 รับรองให้ทุกการกระทำของคณะรัฐประหารชอบด้วยรัฐรรมนูญ ก่อนที่คสช.จะจากไปออกคำสั่งคสช. 9/2562 เพื่อยกเลิกประกาศคำสั่งรวม 78 ฉบับ ดังนั้น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ได้เสนอเสนอร่างพ.ร.บ.เพื่อยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.จำนวน 17 ฉบับที่ตกค้าง
ด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายว่า ตนเสนอญัตติเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อผู้บริหารท้องถิ่น จำนวน 8 ฉบับให้หยุด หรือพักการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหาร ข้าราชการท้องถิ่น มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 400 คน ขณะที่ปลดล็อคไปแล้ว 23 คน
ในกมธ.กระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษสภา ได้ศึกษาและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง พบว่าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้กระบวนการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ ดังนั้นเชื่อว่าภายในสิ้นปี 2562 จะปลดล็อคให้ผู้บริหารท้องถิ่นกลับมาดำรงตำแหน่งได้
ดังนั้นตนมองว่าการใช้กมธ.สามัญเพื่อศึกษาประเด็นคำสั่งหรือประกาศคสช. ที่มีผลกระทบกับประชาชนจะแก้ปัญหาได้รวดเร็ว และตนขอให้ส.ส.ร่วมลงมติไม่เห็นด้วยกับการตั้งกมธ.วิสามัญ เพราะกลไกของกมธ.สามัญสามารถทำได้ ทั้งนี้ ตนขอถอนญัตติที่เสนอดังกล่าวออกจากวาระ
นายสาทิตย์ ในฐานะผู้เสนอญัตติ กล่าวว่า เหตุที่เสนอให้ตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบและหาแนวทางแก้ไข ผลจากประกาศและคำสั่งของปฏิวัติคณะต่าง รวมถึงประกาศและคำสั่งของคสช. และหัวหน้าคสช.นั้น ไม่ใช้การมาเอาคืน
“ถามว่า แปลกไหม ที่ประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาล มาเสนอเรื่องนี้ ยืนยันว่า บางเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชน ตนไม่มีอคติใดๆ แต่ต้องทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อทำกฏหมายให้สะท้อนเสียง และคำนึงถึงของประชาชนมากที่สุด” นายสาทิตย์ กล่าว
ที่นำที่มาที่ไปของเรื่องนี้มาบอกไว้ก็เพื่อให้รู้ถึงแบล็คกราว ใครเสนอ ใครคิดอย่างไร ซึ่งในส่วนของฝ่ายค้านอย่างนายปิยบุตร คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก แต่สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์โดยนายสาทิตย์ จึงเป็นเรื่องน่าฉงนชวนให้ตั้งคำถามอยู่ไม่น้อย รวมทั้งอีก5คน!?!
สำหรับส.ส.ประชาธิปัตย์ทั้ง 6 คนว่ากันว่ามีความสนิทสนมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอดีตหัวหน้าพรรคฯ ซึ่งสำหรับนายอภิสิทธิ์ คงไม่ต้องบอกว่ามีความรู้สึกอย่างไรกับพล.อ.ประยุทธ์ !!! กับรัฐบาลคสช.!?! กับสิ่งที่มักพูดติดปากนั่นคือ เผด็จการ??? เช่นนี้พอจะเห็นร่องรอยอะไรบางอย่างกับการโหวตสวนแล้วหรือไม่???
นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ให้เหตุผลในการโหวตว่า เป็นจุดยืนทางการเมืองส่วนตัวที่เห็นว่าการตั้งกมธ.ฯไม่มีอะไรเสียหาย และน่าจะเป็นผลดีต่อรัฐบาลหากเปิดใจกว้างให้ตั้งกมธ.ศึกษาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตจากการยึดอำนาจ
อันวาร์ สาและ เป็นรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นส.ส.ปัตตานี 4 สมัย ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.จังหวัดตรังหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ในสมัยรัฐบาลชวน 2 (พ.ศ. 2540 – พ.ศ. 2543)
ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายสาทิตย์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบดูแลสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและได้รับการเลือกตั้งเป็นต้นมา นอกจากเคยเป็นโฆษกพรรคแล้วยังเป็นโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ อภิสิทธิ์ด้วย
นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตรองหัวหน้าตามภารกิจ พรรคประชาธิปัตย์ เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายกษิต ภิรมย์) สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.จังหวัดตาก พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ภาคเหนือ) ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตาก สมัยแรกในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2539 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งให้นายชัยวุฒิ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ได้ปรับให้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นางกันตวรรณ กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.จังหวัดพังงา 4 สมัย ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงที่สุดในประเทศไทย จากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้รับคะแนน 108,559 คะแนน
เป็นบุตรสาวของนายบรม ตันเถียร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา 4 สมัย สังกัดพรรคกิจสังคม ได้รับเลือกตั้งครั้งแรก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 พรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 1
นั่นคือประวัติฉบับย่อของ6ส.ส.ประชาธิปัตย์ผู้โหวตสนับสนุนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของ คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ถามว่าทั้ง6คนคิดอะไรก็ตามที่บางคนที่ชี้แจง คำถามต่อไปก็คือแล้วทำไมประชาธิปัตย์ที่เหลือถึงไม่คิดแบบนี้ หรือทั้ง6คนคิดแบบอดีตหัวหน้าอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะนายเทพไท มักออกมาเคลื่อนไหวในด้านลบให้กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ตลอด แม้เข้ามาร่วมในฐานะรัฐบาลแล้วก็ตาม!?!
นายสาทิตย์ ออกตัวว่าไม่ได้เป็นการเอาคืน แต่คำถามก็คือ นายสาทิตย์รู้ถึงผลหากตั้งกมธ.ชุดดังกล่าวขึ้นมาหรือไม่??? จะใช้บทบาทในฐานะกมธ.โจมตีบิ๊กตู่ด้วยการย้อนไปด่าเมื่อครั้งเป็นคสช.หรือไม่??? ตรงนี้คิดว่านายสาทิตย์ ไม่น่าจะแกล้งว่าทำเป็นไม่รู้!?!
ถามว่าจะโจมตีพล.อ.ประยุทธ์อย่างไรในเมื่อปัจจุบันนั่งเป็นนายกฯอยู่ ก็ด้วยวิธีลากคนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งมาตรา44 มาสอบถาม ชี้แจง!!! แล้วโยงไปถึงหัวหน้าคสช.ผู้ออกคำสั่ง นั่นก็คือ บิ๊กตู่ ที่เป็นนายกฯอยู่ในปัจจุบัน!!!
เมื่อกมธ.ใช้บทบาทหน้าที่นี้ เป็นช่องทางฟาดฟันบิ๊กตู่ เมื่อนั้นถามว่าสถานะ สภาพของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร??? นี่ยังไม่นับการเคลื่อนไหวอื่นๆ รวมทั้งอาการขบเกลียวของพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังฉายออกมาในทำนองต่างคนต่างทำ ต่างพรรคต่างเก่ง!!!ซึ่งทั้งรู้กันอยู่ว่ารัฐบาลผสมก็ตกอยู่ในสภาวะปริ่มน้ำอยู่แล้ว
ดังนั้นจะมองไปได้หรือว่า หากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะไปไม่รอด แบบเรือเหล็กจอดไม่ต้องแจว ก็หาใช่เพราะความเก่งของฝ่ายค้าน หรือจะมีม็อบทรงพลังมาขับไล่แต่อย่างใด แต่เกิดจากคนข้างๆตัวอย่างบรรดาพวกพรรคร่วมนี่เอง ที่คอยทิ่มแทง!?!ให้เรือรั่ว ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ???