โอกาสทอง!! กรุงไทยลั่นท่องเที่ยวหนุนจีดีพี ๓.๔% นักท่องเที่ยวแตะ ๒๒.๕ ล้านคน ส่งออกอาหาร-ผลไม้ฟื้นหลังจีนเปิดปท.

0

“กรุงไทย” ชี้ท่องเที่ยวหนุนจีดีพีปีนี้ โต 3.4% ลุ้นนักท่องเที่ยวแตะระดับ 22.5 ล้านคนตลอดปี ด้านสนค.มองว่าส่งออกอาหารและผลไม้ของไทยกระเตื้องขึ้นจากการที่จีนเปิดประเทศผ่อนคลายมาตการคุมเข้มโควิดลง

วันที่ 10 มกราคม ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตที่ 3.4% ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 3.2% โดยแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจคือภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 22.5 ล้านคน หรืออาจมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนหลังเปิดประเทศ ซึ่งคาดว่าหลังเปิดประเทศวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยได้ถึง 4.8-5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลงจะกระทบต่อการส่งออก ปี 2566 คาดว่าขยายตัวเพียง 0.7% จากปี 2565 ที่ขยายตัวถึง 7% ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยเดินหน้าด้วยเครื่องยนต์เดียวจึงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก

“เศรษฐกิจปีนี้มองเศรษฐกิจขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.4% อาจมาขึ้นหากนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยตามเป้าหมายที่ 4.8 ล้านคน มีผลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอีก 0.3% ขณะเดียวกันถ้าจะหลุด 3.4% ก็น่าจะมาจากส่งออกที่หดตัวมากกว่าที่เราคาด โดยปีนี้เราคาดส่งออกโต 0.7% แต่หากส่งออกหดตัว 1% จะกระทบจีดีพี 0.3% ในขณะที่นักท่องเที่ยวปีนี้ 22.5 ล้านคน ก็ยังไม่สูงเท่ากับปีก่อนโควิด ซึ่งปี 2567 มองนักท่องเที่ยวไว้ 35 ล้านคน และปี 2568 ลุ้นแตะ 40 ล้านคนได้”

ดร.พชรพจน์ กล่าวว่า “ภาวะเงินเฟ้อสูงจะยังไม่หมดไปเนื่องจากภาคธุรกิจยังต้องรับมือกับการเปลี่ยนผ่านด้านต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ที่ 6.1% และคาดว่าจะเข้ากรอบเป้าหมายปี 2566 ที่ 3.1% แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2566 จะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายส่งผลให้คาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% ในปี 2565 ขึ้นสู่ระดับ 2% ในปี 2566 และอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal rate) อาจอยู่ที่ 2.5% ในปี 2567 เป็นยุคดอกเบี้ยขาขึ้นเต็มตัวของประเทศไทย”

ขณะเดียวกัน หลังจาก ธปท.ปรับการนำส่งค่าธรรมเนียมกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) โดยให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งที่อัตรา 0.46% จากที่ลดลง 0.23% ช่วงโควิดที่ผ่านมา จึงได้ประเมินดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับขึ้นทันทีหลังสิ้นสุดมาตรการดังกล่าว ซึ่งการปรับอัตราเงินนำส่งจะกลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ของฐานเงินฝากในคราวเดียว จึงอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้กลุ่ม M-Rate ปรับขึ้นถึง 0.4% คาด MLR ต่ำสุดอาจแตะที่ระดับ 6.6% ในช่วงปลายปี 2566

ดร.พชรพจน์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยประเมินปี 2566 เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงภายใต้โลกใหม่ที่มีความผันผวนและซับซ้อนมากขึ้น โดยมีการเปลี่ยนผ่านสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1.การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 2.เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะชะลอตัว 3.เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการท่องเที่ยว 4.การเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นของไทย และ 5.การเปลี่ยนผ่านท่ามกลางแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านทั้ง 5 ด้านมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเป็นได้ทั้งความท้าทาย และโอกาสสำหรับภาคธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับอุปสรรคในการปรับตัวเข้าบริบทโลกใหม่ที่ใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน อาจมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากการปรับธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในยามที่ต้นทุนอื่นๆ ก็สูงขึ้นรอบด้านทั้งดอกเบี้ย ค่าไฟ และ ค่าแรง แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น ผู้ประกอบการที่ปรับตัวจะมองเห็นลู่ทางธุรกิจใหม่ๆ มีโอกาสเติบโตแม้ในยามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ในขณะเดียวกัน สนค.วิเคราะห์ว่าจีนเปิดประเทศ ส่งผลให้ส่งออกตลาดจีนกลับมาสดใส  ภายหลังผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ เป็นสัญญาณที่ดีต่อการค้าและการลงทุนไทย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การประกาศเปิดประเทศของจีนตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 เป็นต้นไป หลังจากดำเนินนโยบาย Zero-COVID มานานกว่า 3 ปี (นับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสในปี 2563) เป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกไปยังตลาดจีน โดยประเมินว่า ในปี 2566 ตลาดจีนจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง จีนเป็นตลาดหลักที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย เป็นตลาดส่งออกอันดับที่สอง (12% ของการส่งออกรวม) รองจากสหรัฐอเมริกา

โดยเป็นตลาดส่งออกหลักของผลไม้ไทย และเป็นแหล่งส่งออกสินค้าขั้นกลาง อาทิ ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ ในขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่ง (สัดส่วน23.3% ของการนำเข้ารวม) โดยส่วนใหญ่ไทยนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล ซึ่งในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่าการค้ากับจีนขยายตัวเพียง 3.1% โดยหดตัวจากภาคการส่งออก (-6.5%) เป็นการหดตัวในรอบ 3 ปี แต่ขยายตัวจากการนำเข้า (+8.6%) สินค้าส่งออกที่หดตัวในตลาดจีนที่สำคัญ ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นต้น