เตรียมรับอั่งเปา!! จีนจองเที่ยวไทยพุ่ง เร่งกระจายเที่ยวบินลงเชียงใหม่-ภูเก็ต-อิสาน เอกชนชี้ท่องเที่ยว-FDI ดันศก.ฉลุย

0

เที่ยวบินจากจีนเตรียมหลั่งไหลเข้าไทย หลังจีนประกาศเปิดประเทศ 8 ม.ค.นี้ ททท.จับมือ กพท.กระจายเที่ยวบินไปลงเชียงใหม่ ภูเก็ต และภาคอีสาน แก้ปัญหาการรองรับภาคพื้นดินของสนามบินสุวรรณภูมิที่มีความแออัด ด้านหอการค้าระบุว่าภาคเอกชนฝากความหวัง “ท่องเที่ยว-ลงทุนต่างชาติ-บริโภคภาคเอกชน” ช่วยขับคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 66 โตได้ 3-3.5% ชี้หลังเป็นเจ้าภาพเอเปคฉายภาพไทยโดดเด่น คาดดึง FDI เข้าประเทศได้ไม่ต่ำ 6 แสนล้านใน 5 ปี

วันที่ ๖ ม.ค.๒๕๖๖ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลังจีนเตรียมเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.66 เป็นต้นไป ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) เริ่มออกเดินทาง ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แจ้งว่า มีสายการบินแจ้งความประสงค์ทำการบิน เพื่อขอตารางทำการบิน (Slot) เส้นทางระหว่างไทย-จีนเข้ามาแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อลดการแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิ จึงประสานกับ กพท.เพื่อกระจายเที่ยวบินไปยังสนามบินในต่างจังหวัดมากขึ้น อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆในภาคอีสานและภาคใต้ โดยเฉพาะเส้นทางบินคุนหมิง-หาดใหญ่ ที่ต้องการกลับมาบินอีกครั้ง ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีการวางแผนทำตลาดเตรียมขายแพ็กเกจท่องเที่ยวรองรับไว้แล้ว

ด้านนายชูวิทย์ ศิริเวชกุล ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก ททท. กล่าวว่า ททท.ได้รับรายงานจาก กพท.และสายการบินต้นทาง ว่าจะมีเที่ยวบิน ที่เริ่มกลับมาทำการบินเส้นทางไทย-จีน จริงๆ ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.66 จนถึงสิ้นสุดตารางบินฤดูหนาว 2022/2023 ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน มี.ค.66 โดยเส้นทางบินจากเซี่ยงไฮ้มีการฟื้นเที่ยวบินกลับมาไทยเร็วที่สุด เช่น จากสายการบินไชน่า อีสเทิร์น และเซี่ยงไฮ้ แอร์ไลน์

โดยในวันที่ 18 ม.ค. จะมีสายการบิน 2 สาย ได้แก่ สายการบินสปริงแอร์ไลน์ ทำการบินเส้นทาง กว่างโจว-เชียงใหม่ ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และสายการบินจูนเหยา (Juneyao Airlines) ทำการบินเส้นทางเซี่ยงไฮ้-ภูเก็ต ความถี่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเส้นทางเซี่ยงไฮ้-เชียงใหม่ ความถี่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ถือเป็นตัวอย่างของสายการบินที่ทำการบินเส้นทางสู่สนามบินในต่างจังหวัดของไทยมากขึ้น “ปัจจุบันความสามารถในการรองรับภาคพื้นดินที่สนามบินสุวรรณภูมิมีความแออัด จึงต้องปรับแผนส่งเสริมให้สายการบินกระจายเส้นทางบินไปลงสนามบินอื่นๆของประเทศไทยมากขึ้น คาดว่าตารางบินฤดูร้อน 2023 ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ถึงปลาย ต.ค.นี้ จะฟื้นตัว 70% เมื่อเทียบกับปี 62 ก่อนโควิด-19 ระบาด”

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ประเมินว่าไตรมาส 1 ปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยทางอากาศในลักษณะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวม 300,000 คน แบ่งเป็นเดือน ม.ค. 60,000 คน เดือน ก.พ. 90,000 คน และเดือน มี.ค. 150,000 คน ขยายตัว 15-20% ต่อเดือน “ททท.คาดการณ์ว่าตลอดปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทย 5 ล้านคน ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยทั้งหมดเพิ่มเป็น 25 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย (ไม่รวมตลาดจีน) ไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน โดย ททท.มั่นใจว่าดีมานด์ตลาดนักท่องเที่ยวจีนพร้อมกลับมาเที่ยวแบบล้างแค้น (Revenge Travel) และหนึ่งในแผนการโปรโมตดึงนักท่องเที่ยวจีน คือกลยุทธ์พาดาราหรือเซเลบริตี้เดินทางมาเที่ยวไทย เพราะเป็นกลยุทธ์ที่เคยใช้แล้วประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19”

ในส่วนของภาคเอกชน นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2566 หอการค้าไทยเชื่อว่า แม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอยแต่ประเทศไทยจะยังสามารถเติบโตทวนกระแสโลกได้

จากปัจจัยบวกในช่วงปลายปี 2565-2566 ส่วนหนึ่งเกิดจากการเร่งผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ของไทยที่ดำเนินการได้รวดเร็ว ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงการฉีดวัคซีน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการแทบเป็นปกติ ต่อเนื่องด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2022 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม 

“ปัจจัยที่กล่าวมา หอการค้าไทยคาดจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากปี 2565 คาดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีเข้ามา 11-11.5 ล้านคน เกินกว่าเป้าหมายที่หลายส่วนตั้งไว้ที่ 10 ล้านคน  และคาดในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวไม่ตํ่ากว่า 20 ล้านคน และที่น่าสนใจคือจากการเปิดประเทศของจีนที่จะเริ่มวันที่ 8 ม.ค.นี้จะส่งผลมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยอีกเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นหากรวมนักท่องเที่ยวจีนคาดจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยปีนี้ประมาณ 25 ล้านคน”

ส่วนภาคการส่งออกแม้ตัวเลขช่วงตุลาคม-ธันวาคม มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่หากนับรวมตั้งแต่ต้นปีภาพรวมการส่งออกปีที่ผ่านมายังถือว่าเติบโตได้อย่างน่าพอใจ โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ประเมินปี 2565 มูลค่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ที่ประมาณ 7.2% ส่วนในปี 2566 ต้องจับตามองใกล้ชิด เพราะประเทศคู่ค้าทั่วโลกมีแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทย 

ด้านการลงทุนในปี 2566 ถือเป็นโอกาสทองของไทย จากโมเมนตัมของการเป็นเจ้าภาพเอเปค ที่ช่วยสร้างการรับรู้และช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสุขภาพ เป็นต้น เฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC  โดยประโยชน์ระยะยาว คาดว่าจะสร้างการลงทุน FDI มูลค่าประมาณ 6 แสนล้านบาท ภายใน 3-5 ปี ทั้งจากประเทศจีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม อินเดีย รวมถึงญี่ปุ่นที่ประกาศลงทุนในอุตสาหกรรม EV ของไทยต่อเนื่อง