เอาตัวรอดเป็นยอดดี!! ญี่ปุ่นฉีกหน้าสหรัฐ ไม่แบนประกันเรือรัสเซีย ค้าพลังงานพุ่งไม่สนคว่ำบาตรราคา

0

การค้ารัสเซีย-ญี่ปุ่นพุ่งกระฉูดแม้สหรัฐฯและสหภาพยุโรปเพิ่งประกาศคว่ำบาตร รอบที่ ๙ เน้นกำหนดเพดานราคาขั้นต่ำกับราคาพลังงานของรัสเซีย หลายประเทศเมินไม่คว่ำบาตรตามคำสั่งมหาอำนาจเก่า แต่เป็นเรื่องเซอร์ไพรซ์อย่างมาก  ที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรกองหน้าของสหรัฐฯในเอเชีย-แปซิฟิกปฏิเสธไม่คว่ำบาตรราคาก๊าซ-น้ำมันของรัสเซีย ที่สำคัญยังรับประกันการค้าเรือขนส่งสินค้ารัสเซียด้วย งานนี้เมกาปวดตับ เพราะหักหน้ากันชัดๆ สันนิฐานว่าเรื่องปากท้องพลังงานญี่ปุ่นเอาตัวรอดไว้ก่อน เพราะแค่เพิ่มงบฯทหารมหาศาลก็ถูกกดดันต่อต้านในประเทศอย่างหนักแล้วทั้งภาคการเมืองและภาคประชาชน

วันที่ ๒ ม.ค.๒๕๖๕ สำนักข่าวรัสเซียทูเดย์และเจแปนไทมส์รายงานว่า การค้าพลังงานระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ๑๐% ต่อปีในช่วง ๑๑ เดือนแรกของปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา แม้ว่าชาติตะวันตกจะคว่ำบาตรต่อมอสโกว์ก็ตาม ตามการประมาณการของ สถิติการค้าของญี่ปุ่น

ในแง่การเงิน มีรายงานว่าการค้าทวิภาคีมีมูลค่า ๒.๓๖๕ ล้านล้านเยน ประมาณ ๑.๘ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นไทยประมาณ ๓.๔๖ ล้านล้านบาท

การเพิ่มขึ้นดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากความผันผวนของตลาดพลังงานโลก เนื่องจากราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น และเศรษฐกิจกลับมาเปิดทำการอีกครั้งหลังโควิด-๑๙ ตามมาด้วยมาตรการคว่ำบาตรต่อต้านรัสเซียและมาตรการตอบโต้ของมอสโกว์

รัสเซีย หนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ยังคงเป็นหนึ่งในผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG รายใหญ่ให้กับญี่ปุ่น รัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่ถูกคว่ำบาตรมีสัดส่วนประมาณ ๙% ของการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของญี่ปุ่น ก๊าซรัสเซียคิดเป็น ๓% ของการผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่น

ดังนั้น ราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นในปี ๒๕๖๕ ส่งผลให้การนำเข้าของญี่ปุ่นจากรัสเซียในรูปตัวเงินเพิ่มขึ้น ๓๕% เป็น ๑.๘๒ ล้านล้านเยน หรือเกือบ ๑๓.๙ พันล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกัน การส่งออกของญี่ปุ่นไปยังรัสเซียลดลง ๓๐.๗% เป็น เงิน ๕๔๐,๐๐๐ ล้านเยน หรือประมาณ ๔.๑๔  พันล้านดอลลาร์

แม้โตเกียวลดการซื้อน้ำมันดิบของรัสเซียจนเกือบเป็นศูนย์ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมในปีที่ผ่านมา แต่การซื้อก๊าซกลับไม่อยู่ในเงื่อนไขคว่ำบาตร  นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้เข้าร่วมแผนการจำกัดราคาน้ำมันที่นำมาใช้โดยกลุ่มประเทศเจ็ดเมื่อเดือนที่แล้ว กลไกดังกล่าวห้ามสินค้าน้ำมันของรัสเซียที่มีการซื้อขายสูงกว่า๖๐ ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจากการรับบริการหลักจากบริษัทตะวันตก ซึ่งรวมถึงการประกันภัย เพดานราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด

โตเกียวสนับสนุนการจำกัดราคา โดยเรียกมันว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดรายได้จากพลังงานของรัสเซีย ในขณะเดียวกัน มัสซาฮิโร โอคาฟูจิ  (Masahiro Okafuji) หัวหน้าบริษัทอิโตชู (Itochu) ซึ่งมีส่วนร่วมในโครงการ ซาคาลิน-๑(Sakhalin-1) ผ่านทางโซเดโค คอนซอเตียม (Sodeco consortium) กล่าวในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาว่า “ญี่ปุ่นไม่สามารถอยู่รอดได้หากปราศจากการนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย”

บริษัทญี่ปุ่นประกาศแผนคงการมีส่วนร่วมในโครงการก๊าซ Sakhalin-1 และ Sakhalin-2 หลังจากบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อต้านรัสเซีย ทำให้ประธานาธิบดีปูติน ออกคำสั่งให้โอนโครงการซึ่งก่อนหน้านี้บริหารโดย เอ็กซอนโมบิล(ExxonMobil) ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันของสหรัฐฯ ไปยัง นิติบุคคลในประเทศรัสเซีย ทำให้รัสเซียคุมอำนาจหุ้นใหญ่ และกำลังพิจารณาเรื่องจะให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมในโครงการนี้หรือไม่ อีกไม่นานญี่ปุ่นคงรู้ผล ดูทรงแล้วไม่น่าจะได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนกับโครงการนี้

ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นชัดเจนว่ายืนข้างสหรัฐและตะวันตกบีบคว่ำบาตรรัสเวีย ภาคเอกชนกลับสวนทาง บริษัทประกันวินาศภัยของญี่ปุ่นยังคงทำประกันสงครามทางทะเลในน่านน้ำรอบๆ รัสเซียและยูเครนในปี ๒๕๖๖ แหล่งข่าวระบุว่ารัฐบาลขอให้ทำเช่นนั้น 

บริษัทประกันเปลี่ยนแนวทางหลังจากเกิดความกังวลว่าญี่ปุ่นอาจต้องหยุดนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากโครงการ Sakhalin-2 ในตะวันออกไกลของรัสเซีย

ที่เป็นปัญหาคือผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ครอบคลุมความเสียหายจากสงครามต่อเรือที่แล่นในน่านน้ำที่มีความเสี่ยงสูง บริษัทขนส่งจะได้รับประกันภัยดังกล่าวโดยจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติม

สำนักงานบริการทางการเงินและหน่วยงานเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานของญี่ปุ่น ได้ร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรให้อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยดำเนินการประกันสงครามทางทะเลของรัสเซียต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวว่าอุตสาหกรรมพร้อมที่จะให้การประกันสำหรับเรือที่ออกเดินทางในต้นเดือนหน้าในขณะที่วางแผนที่จะดำเนินการเจรจากับผู้รับประกันภัยต่อสำหรับเรือที่ออกเดินทางในภายหลัง

การคว่ำบาตรรัสเซียของญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่องค์กรมากกว่า ๕๐ แห่งและบุคคลมากกว่า ๙๐๐ คน นอกจากนี้ ทางการญี่ปุ่นยังได้อายัดทรัพย์สินของธนาคารรัสเซียและทรัพย์สินของบริษัทและองค์กรรัสเซียเกือบ ๔๐ แห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับยอดการซื้อก๊าซที่พุ่งสวนทาง ถามว่ารัสเซียจะปลื้มไหม คำตอบคงไม่ มาตรการเรื่องก๊าซน่าจะเป็นการเอาตัวรอดในภาคการผลิตและครัวเรือน ขณะที่ในทางมหภาค ญี่ปุ่นก็ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมกันบีบรัสเซีย และปัจจุบันนี้ก็แสดงท่าทีชัดว่า เป็นแกนนำในการต้านจีนในเอเชีย-แปซิฟิกอย่างออกนอกหน้า การซื้อสินค้ารัสเซียจำนวนมากไม่ใช่การเปลี่ยนจุดยืนทางยุทธศาสตร์แต่อย่างใด!!??