(บทความพิเศษ) วิกฤติโควิด​ คือ วิกฤติ​ของเจนเนอเรชั่น​ Y โดย​ ดร.เวทิน​ ชาติกุล​

0

สำหรับคนรุ่นที่ยังไม่เคยผ่านอะไรแบบนี้​ ผมบอกได้แค่ว่า​ ที่พวกคุณส่วนหนึ่งรู้สึกสบายๆดู Netflix​ ตามติดดราม่าในเฟส​ ทวิตเตอร์​ ไอจี​ สั่ง​ Grab ฟู้ดมากิน​ ยัง​ Shopping ออนไลน์ ขณะที่คนที่หาเช้ากินค่ำกำลังไม่รู้จะเอาเงินเอาข้าวที่ไหนมาประทังชีวิต

“นี่คือยุคสมัยของพวกเราโว้ย” จริง ๆ  : ดร.เวทิน​ ชาติกุล

ในเรื่องที่ผมจำได้เกี่ยวกับแม่​ คือเรื่องสงครามโลกครั้งที่​ 2 ตอนญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในไทย​ แม่อายุ​ 5​ ขวบ​ แม่อยู่ที่​ “ท่าแพ” นครศรีฯ​ แม่เล่าว่า​ตื่นเช้า​ อาบน้ำกินข้าว​ นั่งเล็กกับเพื่อนตามปกติในบ้าน​ จู่ๆก็เห็นคนวิ่งตื่นตระหนกกันนอกถนน​ มีเสียงตะโกน​ “ญี่ปุ่นบุก” แล้วแม่ของเพื่อนก็วิ่งเข้ามาอุ้มตัวเพื่อนออกไป​ ทิ้งแม่ไว้ในบ้านคนเดียว

แม่ร้องไห้​ เพราะตกใจ​ ประสาเด็ก ไม่นาน​ อาของแม่ก็วิ่งเข้ามาอุ้มแม่ออกไป​ ทุกคนต้องหนีออกจากบ้านโดยที่ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก่อนทั้งนั้น​ เสื้อผ้าก็มีแค่ชุดติดตัว​ เงินทอง​ ทรัพย์สินต้องทิ้งไว้ที่บ้านหมด​ บ้านแตกสาแหรกขาด​ ยายต้องหนีไปอีกทาง​ ส่วนตาตอนนั้นออกเรืออยู่กลางทะเลไม่รู้ชะตากรรม

คนที่หนีออกมาจากบ้านท่าแพ​ ต้องเดินตัดทุ่งนาหลบทหารที่ตอนนั้นกำลังปะทะกันอย่างหนัก​ (คือ​วีรกรรมของ​ “จ่าดำ” ที่นครศรีฯ)​ ต้องเดินร่วม​ 10​ กิโลเข้ามาในตัวเมือง​ ขอที่พักจากคนใจดีในเมืองนอนหนึ่งคืน​ แล้วถึงเดินเท้าต่อไปหลบอยู่กับญาติที่ต่างอำเภอ​ (ปัจจุบันคือ​ หมู่บ้านคีรีวง)

แม้สถานการณ์จะคลี่คลาย​ลง เพราะรัฐบาลจอมพลป.ยอมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น​ แต่คนที่หนีออกจากบ้านไปก็ยังไม่กล้ากลับบ้าน​ก็จนกว่าจะ​ 2​ เดือนให้หลัง​ แม่ถึงได้กลับมาที่บ้านที่ท่าแพ​ พบกับยาย​ พบกับตา(ที่เรือประมงล่มกลางทะเล​ แต่รอดชีวิตมาได้​ เมื่อกลับมาถึงบ้านก็พบว่าบ้านตัวเองเป็นสถานพยาบาลของทหารญี่ปุ่นไปแล้ว)

แม่เล่าเรื่องนี้ให้ผมฟัง​ ทุกครั้งที่แม่เล่าเราจับความรู้สึกได้ว่าแม่จริงจังและชัดเจนกว่าเรื่องอื่น ๆไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านเลยไปกี่สิบปีแล้วก็ตาม ก็เหมือนที่น้าผมเป็นเวลาเล่าเรื่องสงครามประชาชนที่แกต้องหนีเผด็จการ(ตอนนั้น)​ออกมาจากกรุงเทพฯ

หรือที่ผมยังรู้สึก​ ไม่ลืม​ ประสบการณ์ช่วงวิกฤติ​ “ต้มยำกุ้ง” แต่ละรุ่น​ แต่ละเจนเนอเรชั่น​ มีประสบการณ์​ที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตต่างกัน แม้จะอายุแค่​ 5​ ขวบแต่ผมเชื่อว่าประสบการณ์บ้านแตกสาแหรกขาดที่แม่เจอ​ มันฝังใจจำ ทำให้แม่เป็นคนที่ไม่ประมาท​ อดและออม​ ทำเยอะ​ ใช้น้อย​ เห็นมิตรที่พึ่งพากันได้สำคัญกว่าเงินทอง

หรือรุ่น​ อ.เสกสรรค์ที่บอกว่าตนเองคือ​ “สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์” หรือรุ่นผมที่เจ็บปวดกับ​วิกฤติปี​ 40​ จะระวังตัวค่อนไปในทางกลัว​ เตรียมหาทางหนีทีไล่เอาไว้เสมอ เพราะตระหนักกับตัวเองแล้วว่า​ สิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นได้​เลยในชีวิตไม่ว่ามันจะคืออะไรนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ

นี่คือบทเรียนที่โลกมอบไว้ให้แก่เราอย่างเจ็บปวด ลึกๆสำหรับผม​ แม้เราจะต่างเดือดร้อน​ วิกฤติครั้งนี้มันไม่ใช่สำหรับคนรุ่นผม​ แต่เป็นวิกฤติของคนรุ่นใหม่อย่างพวกคุณ มันย่างกรายเข้ามาในชีวิต​ ยามที่ชีวิตหลงและระเริงอยู่กับความมั่นใจว่า​ “นี่คือยุคสมัยของพวกเราเว้ย”

วิกฤติโควิด-19นี้​ถ้าถามจากความคิดส่วนตัวผมคิดว่าจะหนักหนาสาหัสกว่าวิกฤติอื่น​ ฟังจากผู้เชี่ยวชาญมากกว่าผมพูดแบบเดียวกัน​ “ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน” “ร้ายแรงกว่า” “ไม่มีใครเคยเจอมาก่อน” ก็ไม่รู้ครับ​ จะหนักหนาแค่ไหนสำหรับรุ่นที่ผ่านอะไรกันมาแล้ว​เราก็คิดได้​ เอาวะ​ ก็สู้กับมันอีกสักตั้ง

สำหรับคนรุ่นที่ยังไม่เคยผ่านอะไรแบบนี้​ ผมบอกได้แค่ว่า​ ที่พวกคุณส่วนหนึ่งรู้สึกสบายๆดู Netflix​ ตามติดดราม่าในเฟส​ ทวิตเตอร์​ ไอจี​ สั่ง​ Grab ฟู้ดมากิน​ ยัง​ Shopping ออนไลน์ ขณะที่คนที่หาเช้ากินค่ำกำลังไม่รู้จะเอาเงินเอาข้าวที่ไหนมาประทังชีวิต นี่แค่หัวขบวนของสึนามิเท่านั้น นี่แหละครับ​ ​ยุคสมัยของพวกเราเว้ย​ ตัวจริง​ เสียงจริง

แต่ละรุ่น​ แต่ละเจนเนอเรชั่น​ ต่างมีประสบการณ์เจ็บปวดของตัวเอง​ อยากไม่อยากคุณก็ต้องผ่าน​ เป็น​หมากที่บังคับต้องเดิน​ ซึ่งขอพูดความจริงตรงๆว่า​ ด้วยการถูกห่อหุ้มจนเปราะบาง​ ด้วยความที่มีเบ้าหลอมที่เดินตามวิธีคิดตะวันตก​ หันหลังให้กับรากเหง้าของตัวเอง​ (ขณะที่ประจักษ์ชัดว่าตะวันตกกำลังล่มสลาย)​ ผมไม่เชื่อว่าทุกคนจะรอดผ่านมันไปได้​

ขอให้โชคดี