โฆษกรัฐบาลเผยว่า นายกฯ ยินดีที่ธุรกิจอาหารแช่แข็งไทยโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าโดยรวม ๓ ปีกว่า ๓ แสนล้านบาท ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจอาหารแช่แข็งไทย ๑๐ เดือนแรกปี ๒๕๖๕ เพิ่มขึ้น ๘๔ %
วันที่ ๒๖ ธ.ค.๒๕๖๕ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบจากการรายงาน การเติบโตของธุรกิจอาหารแช่แข็งของประเทศไทย ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมามีมูลค่าการค้ารวม ๓ แสนล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ไทยมีภาคธุรกิจอาหารแช่แข็งที่เติบโตดี ทั้งการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ และการส่งออก โดยในช่วงระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอาหารแช่แข็งในไทยทำมูลค่าการค้าโดยรวมได้ถึง ๓ แสนล้านบาท ซึ่งช่วงเดือนมกราคม- ตุลาคม๒๕๖๕ มีการจดทะเบียนนิติบุคคลในธุรกิจอาหารแช่แข็ง เพิ่มขึ้นถึง ๘๔%
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ นักลงทุนไทยมีการลงทุนธุรกิจอาหารแช่แข็งในไทยเป็นอันดับ ๑ ด้วยมูลค่าทุน ๔๘,๐๙๑,๑๔ ล้านบาท (ร้อยละ ๘๖.๒๐) ตามมาด้วย ญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุน ๓,๖๒๙.๘๒ ล้านบาท (ร้อยละ ๖.๕๑) , จีน มูลค่าการลงทุน ๑,๐๓๘.๔๕ ล้านบาท (ร้อยละ ๑.๘๖) และ สิงคโปร์ มูลค่าการลงทุน ๘๑๓.๘๙ ล้านบาท (ร้อยละ ๑.๔๖) ซึ่งในเดือน มกราคม-กันยายน ๒๕๖๕ มีสินค้า ๘ ชนิดของอาหารแช่แข็งไทยจำพวกวัตถุดิบแช่แข็งที่ส่งออกไปต่างประเทศ มีมูลค่าการส่งออกอาหารแช่แข็งถึง ๘๗,๘๙๖ ล้านบาท ได้แก่ ผลไม้แช่แข็ง ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื้อปลาและปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปูสดแช่เย็นแช่แข็งนึ่งหรือต้ม ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และเป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง
โดยแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นของธุรกิจอาหารแช่แข็งในไทย ทั้งเพื่อบริโภคในประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นอาหารแช่แข็งพร้อมทาน และส่งออกไปตลาดต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบแช่แข็ง สืบเนื่องมาจากอาหารแช่แข็งสามารถเก็บรักษาได้นาน ได้เปรียบเรื่องการรักษาความสด และช่วยลดจำนวนในการออกไปซื้อของที่ตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต
นายอนุชาฯ กล่าวเสริมว่า “นายกรัฐมนตรีชื่นชมการทำงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยผลักดันการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ จนสามารถส่งออกและแข่งขันในเวทีโลกได้ นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า ตลาดสินค้าอาหารแช่แข็ง นั้นเป็นการเพิ่มโอกาสที่สำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย ตามนโยบาย “อาหารไทย อาหารโลก” ทั้งนี้ ประเทศไทยซึ่งถือได้ว่าเป็นครัวของโลก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมอาหารที่เข้มแข็ง มีความสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรอาหาร และมีศักยภาพในการผลิต การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข่งเป็นหนึ่งตัวอย่างที่สำคัญของความสำเร็จนี้ ทั้งนี้จะส่งผลต่อยอดไปถึงการเผยแพร่วัฒนธรรมทางด้านอาหารอีกด้วย”
แม้จะมีข่าวดีแต่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้แจ้งเตือนผู้ส่งออกเตรียมรับมือ หลังอียูยกร่างกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า จ่อห้ามนำเข้าสินค้า ๗ กลุ่ม ชี้จะเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่ห้ามนำเข้าสินค้าที่มีส่วนตัดไม้ทำลายป่า คาดมีผลบังคับใช้กลางปีหน้า
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยความคืบหน้าการยกร่างกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products) ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประชุม ๓ ฝ่าย (trilogue) ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นที่จะห้ามสินค้า๗ กลุ่ม
ได้แก่ เนื้อวัวและผลิตภัณฑ์ไม้และผลิตภัณฑ์กระดาษตีพิมพ์ ปาล์มน้ำมันและอนุพันธ์ของน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เข้าอียูหากพบว่ามีส่วนในการทำลายป่า อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและรัฐสภายุโรปเต็มคณะก่อนบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับใช้ประมาณเดือนมิถุนายน ๒๕๖๖
และหลังจากกฎหมายมีผลใช้บังคับ ๒ ปี จะมีการทบทวนขอบเขตของสินค้า และคำนิยามของการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรมเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล