ปลุกขวัญกำลังใจ!!ครม.เคาะของขวัญปีใหม่ ๒๕๖๖ ลดภาษี-ช้อปดีมีคืน ๔ หมื่นบาท สินเชื่อไมโครและอื่นๆเพียบ

0

ครม.ไฟเขียวแพ็คเกจ ‘ของขวัญปีใหม่’ ปี 66 ให้หักลดหย่อนภาษีมาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ ไม่เกิน 4 หมื่นบาท คาดเงินสะพัด 5.6 หมื่นล้าน พร้อมลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 15% ลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง ซื้อบ้าน-อาคารพาณิชย์-ห้องชุด ไม่เกิน 3 ล้าน ขณะที่ ‘แบงก์ชาติ’ สำรองเงินสด 1 แสนล้าน รับเทศกาลปีใหม่

วันที่ 20 ธ.ค.2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการการดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1.มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 66” เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 ถึงวันที่ 15 ก.พ.2566 โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยแบ่งเป็น 

1)ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวน 30,000 บาทแรก ออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ 2)ค่าซื้อสินค้าหรือบริการ อีกจำนวน 10,000 บาท ออกใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับสินค้าที่เข้าร่วมมาตรการ เช่น ค่าซื้อสินค้า และค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าสินค้า OTOP แต่ไม่รวมถึงสินค้าและบริการ 10 ประการ ดังนี้ ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ค่าซื้อยาสูบ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 66 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 66 และค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 66”  จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 56,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ มวลรวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.16 และ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี และสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

2.มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 โดยลดภาษีให้ในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปีภาษี พ.ศ.2566

3.มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2566 โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม ร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา

4.มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานภายในประเทศ โดยลดอัตราภาษีตามปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้บินในประเทศ จากลิตรละ 4.726 บาท เหลือลิตรละ 0.20 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2566 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและบรรเทาผลกระทบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสายการบินภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19

5.มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตาม พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ให้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบกิจการต่อเนื่อง ณ สถานประกอบการเดิม ประเภทใบอนุญาตเดิม ที่ยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2566 เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์โควิด19

ส่วนมาตรการและโครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อาทิ 

1.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เช่น โครงการชำระดีมีคืน ลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน มาตรการส่งเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟู 

2.ธนาคารออมสิน เช่น โครงการวินัยดี มีเงิน  

3.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เช่น ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs 

4.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ (ธพว.) เช่น ผ่อนดีมีคืน (บัตรกำนันสูงสุด 300 บาท) มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ยังมีมาตรการและโครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง 5 โครงการ ได้แก่ 

1)มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 จากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 

2)มาตรการของขวัญปีใหม่ปี 2566 ให้กับลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน/ผู้ค้ำประกัน จากบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (บสอ.) 

3)โครงการเที่ยวปีใหม่สุขใจไปกับพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 ให้แก่ประชาชน จากกรมธนารักษ์ 

4)โครงการสนับสนุนตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนลดภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อความสุขที่มั่นคงของทุกภาคส่วน จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทัพย์ (ก.ล.ต.)

5)โครงการส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี และมีภูมิคุ้มกัน ไม่ถูกหลอกลวง จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทัพย์ (ก.ล.ต.)

6)โครงการกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) สำหรับเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกบิธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

7)โครงการ “ชม ชิม ช็อป ยาสูบเชียงราย” จากการยาสูบแห่งประเทศไทย